รีเซต

ยูเอ็นชี้สภาพอากาศรุนแรงกลายเป็นนิว นอร์มอล

ยูเอ็นชี้สภาพอากาศรุนแรงกลายเป็นนิว นอร์มอล
มติชน
1 พฤศจิกายน 2564 ( 07:13 )
68
ยูเอ็นชี้สภาพอากาศรุนแรงกลายเป็นนิว นอร์มอล

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของสหประชาชาติออกมาระบุว่า สภาพอากาศที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนและน้ำท่วมใหญ่ได้กลายเป็นนิว นอร์มอล ของโลกไปแล้ว

 

ในรายงานว่าด้วยสถานะของสภาพภูมิอากาศโลกในปี 2021 ได้เน้นย้ำว่า ขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าต่อตาของพวกเราทุกคน โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศาเซลเซียสก่อนหน้ายุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก ขณะที่ผลการศึกษาก็แสดงให้เห็นว่าระดับน้ำทะเลก็เพิ่มสูงทำสถิติใหม่ในปี 2021 ด้วยเช่นกัน

 

รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้าการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือค็อป26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ถูกจัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพของตัวบ่งชี้ทางด้านภูมิอากาศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ เหตุการณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศที่รุนแรง ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสภาพของท้องทะเล

 

ผลการศึกษาพบว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกเพิ่มความร้อนขึ้นเรื่อยๆ ด้านปริมาณก๊าซเรือนกระจกก็เพิ่มความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศมากขึ้นเช่นกัน สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้โลกเดินไปสู่ดินแดนที่ไม่คุ้นเคยและส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นทั่วโลก

 

WMO ชี้ว่าสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วได้กลายเป็นนิวนอร์มอลแล้ว มันทำให้เห็นด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าการกระทำของมนุษย์มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ตัวอย่างของสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วที่เห็นได้ในปีนี้มีตั้งแต่ฝนที่ตกลงมามากที่สุดในกรีนแลนด์แทนที่จะเป็นหิมะ คลื่นความร้อนในแคนาดาและบางส่วนของสหรัฐอเมริกาที่ทำให้อุณหภูมิในบางพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 50 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิในเดทวัลเลย์ของสหรัฐพุ่งสูงขึ้นไปถึง 54.4 องศาเซลเซียส ฝนที่ตกลงมาหนักเท่ากับปริมาณน้ำฝนหลายเดือนในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในจีน บางส่วนของยุโรปต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนักซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายพันล้านยูโร และภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันในพื้นที่ป่าฝนอเมริกาใต้ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลดลง จนส่งผลกระทบกับการทำการเกษตร การคมนาคม ไปจนถึงการผลิตพลังงาน

WMO ยังห่วงกังวลถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก โดยนับตั้งแต่มีการวัดระดับน้ำทะเลด้วยดาวเทียมเพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ระดับน้ำทะเลได้เพิ่มขึ้น 2.1 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1993 – 2002

อย่างไรก็ดีตั้งแต่ปี 2013 – 2021 ระดับน้ำทะเลได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าที่ 4.4 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่ธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในปัจจุบันถือว่ารวดเร็วที่สุดในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา

WMO ระบุว่าหากยังเป็นไปในทิศทางนี้ต่อไป ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้นถึง 2 เมตรภายในปี 2100 และจะทำให้ผู้คนราว 630 ล้านคนทั่วโลกต้องกายเป็นผู้พลัดถิ่นซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นสิ่งที่เกินจะจินตนาการได้

ในแง่ของอุณหภูมิโลก ปี 2010 ถือเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดในระดับ 6 หรือ 7 เท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เป็นเพราะในช่วงต้นปีมีผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา อย่างไรก็ดีอุณหภูมิโลกก็เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

นายอันโตนิอู กุแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าต่อตาของเรา ตั้งแต่ใต้ท้องทะเลไปจนถึงยอดเขา สภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วได้ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศรวมถึงชุมชนทั่วโลก การประชุมค็อป26 จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับผู้คนและโลกใบนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง