รีเซต

3 มุมมองเทรนด์เทค จาก Depa - NIA - Gistda | TNN Tech Reports

3 มุมมองเทรนด์เทค  จาก Depa - NIA - Gistda | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2567 ( 16:52 )
27



เทคโนโลยี คือหนึ่งในปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดว่าในแต่ละอุตสาหกรรมจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน เพราะฉะนั้น TNN Tech ได้รับเกียรติสัมภาษณ์พิเศษ จาก 3 หน่วยงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศไทย ถึงเทรนด์เทคโนโลยีในปี 2024  


  1. ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) 

  2. ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

  3. ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda


ในปี 2023 แต่ละหน่วยงานได้เรียนรู้อะไรบ้าง ?


ผศ.ดร.ณัฐพล จาก Depa เห็นว่า เทคโนโลยีหลายอย่างมีการเติบโตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Cloud Innovation, Big Data, AI, Blockchain ไปจนถึงการได้เห็นว่า Software และ Hardware มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงยังได้เห็นการแข่งขันจากผู้ประกอบการนอกประเทศ ที่แข่งกันจะเข้ามาเปิดให้บริการด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ในประเทศไทย แต่ระบบของการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบข้อบังคับ (Rule Regulation) ในประเทศไทย กลับยังไม่สามารถก้าวทันกับเทรนด์ได้ 


ขณะที่ ดร.กริชผกา ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงและใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยีค่อนข้างมาก รวมถึงเรื่องของการใช้ AI เข้ามามีส่วนในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และเห็นถึงความใจของผู้คน ในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น  


ด้าน ดร.ปกรณ์ ผู้อำนวยการ Gistda พบว่าในปี 2023 ที่ผ่านมา มีการเริ่มนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในชีวิตจริงมากขึ้น ในระดับผู้คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิชาการ หรือระดับหน่วยงานภาครัฐ ตื่นตัวรับรู้ในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น รวมไปถึงบุคลากรของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเอง ก็มีองค์ความรู้มากขึ้น มีหลายหน่วยงานหลายธุรกิจสนใจที่จะสร้างดาวเทียม และผู้คนเริ่มใช้ข้อมูลที่แปลงมาจากเทคโนโลยีมากกว่าเดิมแบบเยอะมาก


การใช้งาน AI ในปี 2024 จะเป็นอย่างไร ?


ผศ.ดร.ณัฐพล จาก Depa กล่าวว่า การใช้ AI จะเข้มข้นขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตหลัก ๆ เป็น 4 เรื่อง เรื่องแรก แพลตฟอร์มของต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย จะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง สอง แพลตฟอร์มที่หยิบเอา AI มาใช้ ควรต้องระวังในเรื่องอะไร สาม ทางหน่วยงานจะช่วยเกื้อหนุนกลุ่มผู้ประกอบการที่พร้อมจะหยิบเอา AI มาใช้งานเพื่อให้เติบโตในด้านการแข่งขันได้อย่างไรบ้าง สี่คนไทยในกลุ่มต่าง ๆ พร้อมกับ AI หรือยัง


ด้าน NIA ระบุว่า  AI เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2023 แล้ว และคาดว่าจะเป็นอย่างนั้นไปอีกนาน หรือจนถึงปี 2025 เพราะในปัจจุบัน เทคโนโลยี Data จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่นำมาใช้วิเคราะห์ ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวเป็นของ AI ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลให้ออกมาแม่นยำได้ แต่หลาย ๆ คนในปัจจุบันยังกลัว AI ซึ่งทางหน่วยงานอยากให้หลาย ๆ คนมองว่า AI เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ที่มนุษย์จะใช้ประโยชน์จากมันได้ เราควรเรียนรู้วิธีที่จะใช้ประโยชน์จาก AI ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า


ส่วน Gistda กล่าวว่า ในการประมวลผลข้อมูลจากหลากหลายแหล่งได้เร็ว AI มีส่วนสำคัญ แต่ก่อนทางหน่วยงานจะดูสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร ดูอดีตเป็นยังไง เช่น การดูจุดน้ำท่วม หรือทำนายจุดน้ำท่วม ที่ทางหน่วยงานต้องใช้เป็นต้น


เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Climate Tech ก็จะถูกเน้นหนักขึ้นใช่หรือไม่ ?


สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ระบุว่า ผู้คนสนใจเรื่องของ Climate Tech มากขึ้น ทุกคนมองว่าธุรกิจในปัจจุบันต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในขณะเดียวกัน SME สตาร์ตอัป ก็ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ถ้าคุณจะส่งออกสินค้าไปทางยุโรป มันก็มีมาตรฐานของเรื่อง Environmental หรือการลดการปล่อยก๊าซต่าง ๆ ที่เป็นก๊าซคาร์บอน พูดง่าย ๆ ถ้าคุณทำธุรกิจแล้ว คุณไม่สามารถวัดหรือประเมินผล คุณก็จะขายสินค้านั้นเข้าไปในยุโรปไม่ได้ 


เช่นเดียวกับ NIA กล่าวว่า หนึ่งในเทรนด์ถูกพูดถึงกันมาก ๆ ก็คือเรื่องของ กรีนเทคโนโลยี ทุกอย่างมันถูกใช้อย่างประหยัดอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเทคโนโลยีมาช่วยให้ดีขึ้นก็คงดีกว่า โดยมีบางโรงงานได้เริ่มนำเข้ามาใช้แล้ว คงถึงเวลาที่ประเทศต้องเริ่มวางแผน หรือจำกัดความคำว่ากรีนเทค ว่าต้องยังไงให้ทุกธุรกิจที่เกิดขึ้นในเมืองไทย เตรียมพร้อมรับมือกับคาร์บอนเครดิตที่กำลังจะเกิดขึ้น


ขณะที่ Gistda แสดงความเห็นว่า เรื่องของอวกาศเรื่องของดาวเทียม จะเน้นไปที่เรื่องของการใช้ประโยชน์เพื่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของ Climate Change ซึ่งถือเป็นหัวข้อหลักของโลก ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศ สร้างดาวเทียมเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ 


มีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่น่าจับตา ?


ทาง Depa ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงในประเทศไทย ก็คือ “บล็อกเชน” ซึ่งหลังจากนี้จะไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น 


ส่วนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มองว่าด้วยไอเดียที่แปลกใหม่ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทย จะถูกต่อยอดไปสู่ Creative Tech หรือเทคโนโลยีด้านความคิดสร้างสรรค์ ในปี 2024 ทั้ง Food ,Film ,Festival หรือว่าจะเป็นตัวศิลปะวัฒนธรรม ไปจนถึงดนตรีหรือเพลง หรือเกมมิ่ง หรือ Software จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการใช้ Creative โจทย์คือจะสนับสนุนสิ่งเหล่านี้อย่างไร ให้มันเปลี่ยนจาก  Local สู่ Global และเกิด Impact ในเศรษฐกิจระดับโลกได้


ขณะที่ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ระบุว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะถูกนำมาผนวกกับข้อมูลดาวเทียม และส่งต่อมรดกจากอวกาศสู่ภาคประชาชนได้ง่ายขึ้น โดยตอนนี้ เทคโนโลยี Convergence เทคโนโลยีเดียวไม่เพียงพอ มันต้องเริ่มจากทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลดาวเทียมประจำตำแหน่ง หรือว่าดาวเทียมที่เป็นภาพถ่าย หรือที่เป็นการสื่อสาร รวมถึงไอทีเทคโนโลยีจะรวมกัน มันจะรวมกันเพื่อออกสู่อินเตอร์เน็ตแล้วไปหายังประชาชน  


ทั้ง 3 หน่วยงานมีแผนดำเนินงานในปี 2024 


สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) กล่าวว่า อันดับแรกเราต้องมี User Centric หรือ User Oriented คือไม่ใช่แค่หน่วยงานภาครัฐ แต่ว่าประชาชนได้อะไร จากข้อมูลเรา เขาต้องรับรู้ด้วยว่าหน่วยงานภาครัฐได้อะไร เอกชนได้ประโยชน์อะไร ในปี 2024 นี้ ทาง Depa จึงต้องตอบยูเซอร์ กลุ่มต่าง ๆ ให้ได้ และปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีอื่นๆ มา Convergence ให้มากขึ้น 


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ NIA อยากจะทำ คือการลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งทุน คือผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น แล้วก็ลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ทางสำนักงานอยากจะกระจายเรื่องของนวัตกรรมให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการ หรือว่ารับทุนของสำนักงานเพื่อเพิ่มโอกาส เพิ่มจำนวนนวัตกรรม เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรม และสามารถขยายตลาดทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้


เช่นเดียวกับ Gistda เห็นว่า อย่างแรกเลยคือทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอยากเห็นภาพ คนไทยมีการการศึกษาที่ดีขึ้น ให้มีช่องทางในการคว้าโอกาสให้ได้มากกว่าเดิม


อย่างที่สอง คือทางสำนักงานมองว่า การจะเปลี่ยนแปลงโลกของ Startup จะต้องเน้นเทคโนโลยีเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 หรือในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเว็บ 3.0 เอไอที่เป็น AI  As a Service แต่ไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นดิจิทัลเซอร์วิส ที่มีการ Adopt ใช้ AI อย่างเดียว 


อย่างสุดท้าย คือการเตรียมพร้อมด้าน Transformation ในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านั้นจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่คนไทยผลิต คนไทยทำหรือคนต่างชาติเข้ามา Register แล้วสามารถดำเนินการได้ 


ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของเทรนด์เทคโนโลยีในมุมมองของทั้ง 3 หน่วยงาน ภายใต้การสนทนาที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้มากมาย มีหลายเทคโนโลยีที่เราต้องจับตามอง มีทั้ง เอไอ เทคโนโลยีและนัวตตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม บล็อกเชน เทคโนโลยีด้านความคิดสร้างสรรค์ 


นอกจากนี้ ยังได้แนะนำในเรื่องของการปรับตัว กับทิศทางลมที่จะเปลี่ยน ให้เราตั้งรับกับเทรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง