รีเซต

ส.อ.ท.ชงคนละครึ่งเฟส 3 วงเงิน 5,000 บาท

ส.อ.ท.ชงคนละครึ่งเฟส 3 วงเงิน 5,000 บาท
มติชน
20 มกราคม 2564 ( 12:37 )
40
ส.อ.ท.ชงคนละครึ่งเฟส 3 วงเงิน 5,000 บาท

ส.อ.ท.เผยเชื่อมั่นโควิด-19 รอบใหม่ ซัดความเชื่อมั่น ธ.ค. ลดครั้งแรกรอบ 8 เดือน หนุนแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท เสริมข้อเสนอกู้ได้ไม่จำกัดวงเงิน เพิ่มสิทธิคนละครึ่งเฟส 3 เป็น 5,000 บาท-ลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืนปี’64 เป็น 5 หมื่นบาท

 

นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.2563 อยู่ที่ 85.8 ลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ 87.4 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เนื่องจากปัจจัยลบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด

 

ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ส่งผลให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่งและกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่ และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด รวมถึงขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

 

“จากมาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดของภาครัฐ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ทั้งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและการเดินทางท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการลดลงโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อีกทั้งการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดยังมีความล่าช้า” นายสุพันธ์ุ กล่าว

 

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ส่งออกสินค้าได้น้อยลง และสูญเสียรายได้จากการส่งออก รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ ประกอบกับในเดือนธันวาคม ยังมีวันทำงานน้อย เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ภาคการผลิตลดลงจากเดือนก่อนหน้า

 

 

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 92.7 จากเดิม 94.1 เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการปรับแผนการดำเนินกิจการเพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่มากขึ้น

 

ดังนั้น ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย

 

ขอให้เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการ และประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่องจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่ง หรืออาจพักชำระหนี้ชั่วคราว เป็นต้น

 

สำหรับข้อเสนอมาตรการเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอีนั้น ส.อ.ท.มีข้อเสนอเพิ่มเติม 4 ข้อ จากที่คณะกรรมาธิการ เสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 5 แสนล้านบาท โดย 1.ขอไม่จำกัดวงเงินกู้ในการขอสินเชื่อ แต่ให้พิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเป็นรายๆ ไป จากที่คณะกรรมาธิการเสนอกรณีขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมได้ไม่เกิน 30% ของยอดสินเชื่อ และกรณีลูกค้าไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

 

2.ขอให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปีในระยะ 5 ปีแรก ไม่ควรกำหนดที่ 5% ต่อปีเท่านั้น 3.ขอให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลง 1% และ 4.ขอให้ปรับการจัดลำดับการตัดชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยให้ตัดจากเงินต้นก่อน เพื่อเป็นการปรับลดจำนวนหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ

 

นายสุพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะเดียวกันเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีวงเงินสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขยายเวลาให้สถาบันการเงินยื่นกู้ขอวงเงินได้คราวละ 6 เดือน จนกว่าเงินจะหมด และชดเชยความเสียหายไม่เกิน 80% ของลูกหนี้แต่ละราย และสถาบันการเงินชำระคืนเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใน 5 ปี

 

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือประชาชน เสนอให้เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งเป็น 5,000 บาท ขยายระยะเวลาโครงการ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายจำนวนสิทธิผู้ได้รับ สนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืนในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 บาท เป็น 50,000 บาท เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564 ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง