รีเซต

จีนสร้างเครื่องเจาะอุโมงค์ใหญ่สุดในโลก หนัก 10,000 ตัน ที่ต่อยอดจากศาตร์การตีดาบ !

จีนสร้างเครื่องเจาะอุโมงค์ใหญ่สุดในโลก หนัก 10,000 ตัน ที่ต่อยอดจากศาตร์การตีดาบ !
TNN ช่อง16
5 กันยายน 2567 ( 20:03 )
31

บริษัทอุตสาหกรรมหนักการก่อสร้างทางรถไฟแห่งชาติ หรือ ซีอาร์ซีเอชไอ (CRCHI: China Railway Construction Heavy Industry Corporation) ของจีน ประกาศความสำเร็จในการสร้างเครื่องเจาะอุโมงค์ (Tunnel-Boring Machine: TBM) ที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งมีน้ำหนักกว่า 10,000 ตัน หรือหนักเทียบเท่ากับหอไอเฟล (Eiffel Tower) ของฝรั่งเศส และเป็นการนำองค์ความรู้ในการตีดาบของจีนที่มีอายุยาวนานกว่า 2,500 ปี มาประยุกต์ใช้ในการสร้างเครื่องเจาะอีกด้วย


เครื่องเจาะอุโมงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากจีน

ตามการรายงานจากสำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ หรือ SCMP (South China Morning Post) ระบุว่า เครื่องเจาะอุโมงค์ดังกล่าวมีน้ำหนัก 10,000 ตัน มีหน้าตัดหัวขุดเจาะเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8.6 เมตร ตัวเครื่องมีความสูงเทียบเท่าอาคารสูง 3 ชั้น หรือประมาณ 9 - 10 เมตร 


ทั้งนี้ หนึ่งในจุดที่ต้องระวังในการสร้าง TBM คือความร้อนที่เกิดขึ้นกับหัวขุดเจาะ ซึ่งเกิดขึ้นจากการหมุนเสียดสีระหว่างขุดเจาะ ซึ่งในจุดนี้เองที่ทาง CRCHI ระบุว่าได้นำศาตร์การตีดาบแห่งโกวเจี้ยน (Sword of Goujian) ซึ่งเป็นดาบในยุคประมาณ 500 ปีก่อนคริสตศักราช (BC) ซึ่งมีอายุประมาณ 2,500 ปี มาใช้เป็นหัวใจในการผลิตหัวขุดเจาะ


ดาบทั่วไป ช่างทำดาบจะตีดาบระหว่างที่เหล็กร้อนและทำให้เหล็กเย็นลงอย่างรวดเร็วเพื่อคงสภาพ แต่ดาบแห่งโกวเจี้ยน จะใช้การพอกดาบด้วยโคลนเพื่อให้การเย็นตัวเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่ทำได้อย่างต่อเนื่อง วิศวกรผู้ออกแบบหัวขุดเจาะ จึงนำศาสตร์ดังกล่าวไปใช้ในการขึ้นรูปหัวขุดเจาะ เพื่อเสริมความแข็งแรง และทนทานต่อการขุด แม้ว่าหัวเจาะจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นก็ตาม


จากผู้ซื้อสู่ผู้ส่งออกเครื่องเจาะอุโมงค์

การประกาศความสำเร็จดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในการสร้าง TBM ของจีน เนื่องจากในอดีตย้อนไปยังปี 2008 จีนเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่นำเข้า TBM จากประเทศตะวันตกเพื่อการก่อสร้างในประเทศ ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน (Suppiler) หลักในอีกทศวรรษให้หลัง และเข้าสู่ยุคของการเป็นผู้ผลิต TBM เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศในปัจจุบัน


ทั้งนี้ สำนักข่าว SCMP รายงานว่า โครงการผลิต TBM ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเริ่มต้นในปี 2019 โดยการผนึกกำลังระหว่าง CRCHI กับสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Chinese Academy of Sciences) ก่อนที่จะเริ่มการทดสอบในปี 2023 และพัฒนาสำเร็จในปีนี้ โดย TBM ตัวใหม่จะถูกนำไปใช้ในการขุดเจาะอุโมงค์ในระบบรถไฟและรถไฟฟ้าภายในประเทศ รวมถึงส่งออกต่อไป


ข้อมูล Interesting Engineering

ภาพ Charlie Chen/ CRCHI


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง