ทดสอบระบบ Hyperloop แต่ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าวิ่งในอุโมงค์
บริษัท เดอะ บอริง คอมพานี (The Boring Company) ของมหาเศรษฐีชื่อดังอีลอน มัสก์ ประกาศความคืบหน้าล่าสุดในการพัฒนาระบบขนส่งภายในอุโมงค์ Loop ที่นำแนวคิดของระบบขนส่ง Hyperloop มาใช้งาน โดยวันที่ 5 พฤศจิกายน บริษัทได้ทำการแสดงภาพบางส่วนของการพัฒนาระบบ อุโมงค์ใต้ดินที่รองรับการวิ่งของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา (Tesla) ผ่านทางทวิตเตอร์ของบริษัท
บริษัทไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของการทดสอบมากนัก โดยแสดงเพียงภาพการทดสอบบางส่วน รายละเอียดของภาพมองเห็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา (Tesla) ภายในอุโมงค์ที่มีประตูกั้นปิดสนิทแตกต่างจากการทดสอบเดิมก่อนหน้านี้ที่ไม่มีประตูกั้น และระบุข้อความอธิบายว่าบริษัทกำลังทดสอบระบบขนส่ง Hyperloop เต็มรูปแบบ (Full-scale Hyperloop Testing)
ก่อนหน้านี้บริษัท เดอะ บอริง คอมพานี (The Boring Company) ได้ทำการก่อสร้างระบบขนส่งภายในอุโมงค์ Loop ในหลายเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาและทดสอบให้บริการไปแล้วบางส่วน เช่น โครงการอุโมงค์ The Vegas Loop เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ซึ่งกำลังมีแผนการขยายเส้นทางพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติม รวมไปถึงอุโมงค์ R&D Tunnel เพื่อใช้ในการวิจัยพัฒนาใกล้สำนักงานบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริเวณเมืองฮอว์ธอร์น รัฐแคลิฟอร์เนีย อย่างไรก็ตามอุโมงค์ R&D Tunnel กำลังถูกรื้อเพื่อใช้สร้างลานจอดรถ
ระบบขนส่งภายในอุโมงค์ Loop บริษัท เดอะ บอริง คอมพานี (The Boring Company) ได้รับการทดสอบในช่วงปี 2018 ใช้แนวคิดของระบบขนส่ง Hyperloop มาใช้งาน ระบบขนส่งภายในอุโมงค์ Loop อีลอน มัสก์ อธิบายเอาไว้ว่ามันจะเป็นระบบอุโมงค์ขนส่งใต้ดินที่มีความซับซ้อนหลายชั้นและสร้างได้ไม่จำกัด เนื่องจากโครงสร้างทั้งหมดอยู่ใต้ดิน กระบวนการสร้างขุดเจาะอุโมงค์ใช้หัวขุดแบบใหม่ที่ประหยัดต้นทุน เนื้อดินที่โดนขุดออกมาจากอุโมงค์จะถูกนำไปใช้งานเพื่อการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายในอุโมงค์มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา (Tesla) วิ่งรับส่งผู้โดยสารแบบอัตโนมัติ
สำหรับแนวคิดของระบบขนส่ง Hyperloop ได้ถูกคิดค้นออกมาหลายรูปแบบ โดยในช่วงปี 2013 อีลอน มัสก์ ทีมงานวิศวกรของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และบริษัท เทสลา (Tesla) ได้ทำการรวบรวมแนวคิดและนำเสนอออกมาเป็นเอกสารชื่อว่า Hyperloop Alpha เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวอธิบายถึงระบบขนส่งที่ใช้รถไฟพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าวิ่งในอุโมงค์ที่เป็นแบบสุญญากาศซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถทำให้รถไฟพลังงานแม่เหล็กวิ่งได้เร็วมากถึง 1,207 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเปิดให้บริษัทอื่น ๆ สามารถนำเอกสาร Hyperloop Alpha ไปพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี
แม้ว่าแนวคิดระบบขนส่งภายในอุโมงค์ Loop ที่บริษัท เดอะ บอริง คอมพานี (The Boring Company) พัฒนาขึ้นอาจดูแตกต่างจากระบบขนส่ง Hyperloop ที่ใช้รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าวิ่งในอุโมงค์สุญญากาศ และใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา (Tesla) วิ่งขนส่งผู้โดยสารแทน แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัยพัฒนาและต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ หากนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าวิ่งในอุโมงค์ได้สำเร็จและกลายเป็นระบบขนส่งที่แพร่หลาย การพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop ที่ใช้รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าวิ่งในอุโมงค์สุญญากาศไม่ใช่สิ่งไกลเกินกว่าจะเป็นไปได้
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Twitter.com/boringcompany