โอมิครอน XE หากแพร่เชื้อเร็ว จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยหรือไม่?
วันนี้ (3 เม.ย.65) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า ล่าสุด ไทยพบ Omicron XE รายแรกแล้ว
จากที่องค์การอนามัยโลกได้รายงานการตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยใหม่คือ Omicron XE ซึ่งเป็นลูกผสมที่เกิดจากการรวมกันของสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง (BA.1) และสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2)
โดยเริ่มพบที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2565 จำนวน 637 ราย และได้รายงานอย่างเป็นทางการไปแล้วนั้น
ข้อมูลเบื้องต้น (ที่ยังไม่สามารถจะสรุปอย่างเป็นทางการได้) พบว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (OMC XE : Omicron XE) มีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่า BA.2 10% และแพร่เร็วกว่าไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์หลักเดิม (B.1.1.529) 43%
จึงทำให้ทุกประเทศจะต้องติดตามข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่กันอย่างใกล้ชิดต่อไป
เพราะในทุกครั้งที่มีการตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์หลักเดิม ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดของไวรัสสายพันธุ์หลักของการระบาดในที่สุด ได้แก่
1) ไวรัส Alpha แพร่เร็วกว่าอู่ฮั่น 70% ในช่วงเมษายน 2564 ประเทศไทยก็มี Alpha เป็นสายพันธุ์หลักแทนสายพันธุ์อู่ฮั่น
2) ไวรัส Delta แพร่เร็วกว่าไวรัส Alpha 60% ในช่วงปลายปี 2564 Delta ก็เป็นสายพันธุ์หลักแทนสายพันธุ์ Alpha
3) ไวรัส Omicron แพร่เร็วกว่าไวรัส Delta 4-8 เท่า ในช่วงมกราคม 2565 ไวรัส Omicron ก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนไวรัส Delta
ในช่วงที่ Omicron ระบาดนั้น ช่วงแรกสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง (BA.1) เป็นสายพันธุ์หลักก่อน ในเวลาไม่นานนักสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2) ก็ปรากฏขึ้นในประเทศไทย และด้วยความสามารถที่แพร่เร็วกว่า 30-40% ในขณะนี้ BA.2 ก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักไปเรียบร้อยแล้ว
ถ้าไวรัสสายพันธุ์ย่อยลูกผสม Omicron XE แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2) จริง ก็สามารถคาดคะเนได้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแพร่ระบาด ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน
ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ของไทย ได้รายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัส Omicron XE เคสแรกของประเทศไทยแล้ว
โดยเป็นผู้ติดเชื้อชาวไทย ที่อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวคือ มีอาการเล็กน้อย และหายดีเรียบร้อยแล้ว
เมื่อพบเคสแรกแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องที่คาดคะเนได้ไม่ยากว่า จะมีการแพร่ระบาดต่อไปในที่สุด
ส่วนจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.2 หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
เพราะถ้าสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่า ก็จะส่งผลกระทบ ทำให้การเข้าสู่จุดสูงสุดในระลอกที่สี่หรือระลอกมกราคม 2565 ล่าช้าออกไปอีก
ส่วนความรุนแรงในการก่อโรค การดื้อต่อวัคซีน ก็จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารกันต่อไป
ในกรณีที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในมิติการแพร่ระบาด ความรุนแรงในการก่อโรค ตลอดจนการดื้อต่อวัคซีน ทางองค์การอนามัยโลกก็จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งตั้งชื่อเป็นอักษรกรีกโบราณลำดับถัดไปคือ “พาย” (Pi)
Reference
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์
ข้อมูลจาก blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย
ภาพจาก AFP