รีเซต

'ศักดิ์สยาม' ติดตามการสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

'ศักดิ์สยาม' ติดตามการสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
มติชน
23 มิถุนายน 2565 ( 13:39 )
108
'ศักดิ์สยาม' ติดตามการสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามการสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง นายประมวลรัตน์ จินณรงค์ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยนายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

 

การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อติดตามการสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่ง กทพ. มีเขตทางที่ใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 2,900 ไร่ และได้มีการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ โดยมีความคืบหน้าการดำเนินงาน จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ บริเวณใต้ด่านฯ อโศก เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ปัจจุบันพันธมิตรได้ขอชะลอการเข้าร่วมดำเนินโครงการเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบกับพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ซ้อนทับโครงการก่อสร้างและปรับปรุงทางพิเศษขั้นที่ 2 (Double Deck) จึงอาจจะต้องมีการพิจารณาปรับแนวทางในการพัฒนาพื้นที่อีกครั้ง โดย กทพ. มีโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่เพื่อสังคมโดยความร่วมมือกับพันธมิตรของ กทพ. ต่อไป

 

บริเวณถนนสุขุมวิท (เพลินจิต) เนื้อที่ประมาณ 4.5 ไร่ กทพ. มีแผนจะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์ โดยการให้เช่าพื้นที่ชั่วคราว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569

 

บริเวณถนนสีลม เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ กทพ. มีแผนจะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ควบคู่กัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2566

 

บริเวณบางโปรง เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ เป็นพื้นที่ที่เวนคืนเพื่อรองรับการก่อสร้างจุดให้บริการบนทางพิเศษ (Service Area) ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ โดยการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) คาดว่าจะได้ผู้ร่วมลงทุนประมาณปี 2568

 

บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เนื้อที่ประมาณ 98 ไร่ เป็นพื้นที่ที่เวนคืนเพื่อใช้เป็นจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการโดยการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) คาดว่าจะได้ผู้ร่วมลงทุนประมาณปี 2568

 

บริเวณ กม.16 เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ เป็นพื้นที่ในเขตทางพิเศษอุดรรัถยาเพื่อรองรับการก่อสร้างจุดแวะพัก (Rest Area) ขณะนี้บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) มีความสนใจโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาพื้นที่ก่อสร้างสถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง และร้านค้าเพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ทางพิเศษ และบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เป็นพื้นที่ในเขตทางพิเศษศรีรัช โดยจะแบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ (1) ช่วงถนนพหลโยธิน (ด่านฯ พหลโยธิน 1) ถึงถนนดินแดง พัฒนาเป็นร้านค้า ทางเดินลอยฟ้า พื้นที่จอดรถ และพื้นที่สาธารณะ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 (2) ช่วงถนนพหลโยธิน ถึงด่านฯ พหลโยธิน 2 พัฒนาเป็นศูนย์บริการรัฐวิสาหกิจ ร้านค้า ทางเดินลอยฟ้า พื้นที่จอดรถ และพื้นที่สาธารณะ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569

 

ซึ่ง กทพ. ได้จัดทำแผนการดำเนินงาน (Action Plan) พื้นที่ดังกล่าว ทั้ง 7 แห่งแล้ว ทั้งนี้นายศักด์สยามได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้ ให้ กทพ. จัดทำขั้นตอน/กิจกรรม ในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้มีความชัดเจน เพื่อให้สามารถติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรมให้กทพ. นำข้อมูลที่สะท้อนภาพความเป็นจริง และพยากรณ์ปัจจัยต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต ในส่วนของการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษด้วย

 

ให้ สนข. บูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่การดำเนินโครงการมีการเวนคืนที่ดิน โดยให้พิจารณาการใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ควบคู่ด้วย และศึกษาตัวอย่างจากการพัฒนาโครงการในต่างประเทศ เพื่อชดเชยรายได้ในแต่ละโครงการ อันจะส่งผลให้เป็นการลดภาระค่าบริการของประชาชนจากการใช้บริการโครงการ

 

ให้ กทพ. พิจารณารูปแบบ Service area แบบคร่อมทางพิเศษในลักษณะเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ในแนวดิ่งและด้านข้างให้มีความทันสมัยและสอดรับกับพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ในแนวราบเพียงอย่างเดียว เพื่อประโยชน์สูงสุดในการใช้พื้นที่ และให้ กทพ. ประชาสัมพันธ์และทำการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่เป็นระยะ เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง