จีนสอดแนมนักข่าว โดยแบ่งประเภทตามสีไฟจราจร
มณฑลเหอหนานของจีนกำลังสร้างระบบสอดแนมที่ใช้เทคโนโลยีการสแกนใบหน้า ที่สามารถตรวจหานักข่าวและ "บุคคลที่น่ากังวล" อื่น ๆ ได้
เอกสารที่บีบีซี นิวส์ ได้เห็น อธิบายถึงระบบที่แบ่งผู้สื่อข่าวตามประเภทของสีไฟจราจรคือ เขียว เหลืองอำพัน และแดง
ในเอกสารระบุว่า ผู้สื่อข่าวในกลุ่ม "สีแดง" จะ "ได้รับการจัดการตามความเหมาะสม"
หน่วยงานด้านความมั่นคงสาธารณะของมณฑลเหอหนานยังไม่ตอบรับคำขอให้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
เอกสารซึ่งได้รับการค้นพบโดย IPVM บริษัทด้านการวิเคราะห์การสอดแนมนี้ ยังเผยให้เห็นแผนการแสดแนม "บุคคลที่น่ากังวล" อื่น ๆ รวมถึงนักศึกษาต่างชาติ และผู้อพยพสตรี
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า "นี่ไม่ใช่รัฐบาลที่จำเป็นต้องมีอำนาจมากขึ้นในการติดตามตัวประชาชนจำนวนมากขึ้น...โดยเฉพาะประชาชนที่พยายามเรียกหาความรับผิดชอบจากรัฐบาล"
"บุคคลน่ากังวล"
เอกสารซึ่งเผยแพร่เมื่อ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยื่นข้อเสนอให้บริษัทต่าง ๆ ของจีนเข้าร่วมการประกวดสัญญาเพื่อสร้างระบบใหม่นี้ ซึ่งบริษัทที่ชนะการประกวดราคาเมื่อวันที่ 17 ก.ย. คือ NeuSoft
NeuSoft ยังไม่ตอบรับคำขอให้แสดงความคิดเห็นจากบีบีซี นิวส์
ระบบนี้รวมถึงเทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่เชื่อมต่อกับกล้องหลายพันตัวในเหอหนาน เพื่อแจ้งเตือนทางการเมื่อตรวจพบ "บุคคลที่น่ากังวล"
"บุคคลที่น่ากังวัล" จะได้รับการจัดประเภทเก็บไว้ในฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วในมณฑลเหอหนาน โดยระบบนี้จะเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลแห่งชาติของจีนด้วย
"ความกังวลหลัก"
หนึ่งในกลุ่มที่หน่วยงานความมั่นคงสาธารณะของมณฑลเหอหนานให้ความสนใจคือ นักข่าว รวมถึงนักข่าวต่างชาติ
"ข้อเสนอเบื้องต้นจะจัดประเภทนักข่าวที่น่ากังวลเป็น 3 ระดับ" เอกสารดังกล่าวระบุ
"บุคคลที่มีอยู่ในกลุ่มสีแดงคือ กลุ่มความกังวลหลัก"
"ระดับที่สอง ซึ่งเป็นกลุ่มสีเหลือง คือคนที่อยู่ในความกังวลทั่วไป"
"ระดับสาม ซึ่งเป็นกลุ่มสีเขียว คือนักข่าวที่ไม่มีอันตราย"
จะมีการแจ้งเตือนทันทีเมื่อพบ "นักข่าวที่อยู่ในความกังวล" ซึ่งอยู่ในกลุ่มสีแดง หรือ สีเหลือง จองตั๋วเดินทางเข้ามาที่มณฑลเหอหนาน หากพวกเขาเคยถูกต้องข้อหาอาญามาก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ระบบนี้จะประเมินนักศึกษาต่างชาติด้วย โดยมีการแบ่งพวกเขาตามระดับความเสี่ยง 3 กลุ่มคือ "กลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่ยอดเยี่ยม, กลุ่มบุคคลทั่วไป และกลุ่มคนสำคัญและคนที่ไม่มั่นคง"
เอกสารดังกล่าวระบุว่า "การประเมินความปลอดภัยดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยพิจารณาจากการเข้าร่วมชั้นเรียนรายวันของนักศึกษาต่างชาติ, ผลการสอบ, พวกเขามาจากประเทศที่สำคัญหรือไม่ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานศึกษา"
ทางโรงเรียนเองจะต้องแจ้งทางการเมื่อพบนักศึกษาที่มีความน่ากังวลด้านความปลอดภัย
จากนั้น จะมีการแกะรอยคนที่ถูกพิจารณาว่ามีความน่ากังวล
ระหว่างช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อย่างการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติ จะมีการใช้งาน "กลไกการแจ้งเตือนช่วงเวลาสงคราม" และจะมีการแกะรอยนักศึกษา "ที่มีความน่ากังวลอย่างมาก" เพิ่มขึ้น รวมถึงการแกะรอยโทรศัพท์มือถือของพวกเขาด้วย
เอกสารดังกล่าว ยังได้ระบุถึงความต้องการให้ระบบนี้เก็บข้อมูลที่ได้จาก :
- โทรศัพท์มือถือ
- โซเชียลมีเดีย อย่างวีแชตและเวยโป๋
- รายละเอียดของยานพาหนะ
- การเข้าพักโรงแรม
- ตั๋วเดินทาง
- การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
- ภาพถ่าย (จากฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว)
นอกจากนี้ยังมีการมุ่งเน้นไปที่ "ผู้หญิงที่ตกค้าง" หรือ ผู้หญิงที่เป็นผู้อพยพที่ไม่ใช่ชาวจีน ซึ่งไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในประเทศจีนด้วย
โดยปัจจุบันมีผู้หญิงจำนวนมากที่เข้ามาหางานทำในประเทศจีน
หลายคนถูกลักลอบพาเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
ระบบนี้จะ "เชื่อมต่อ" กับหลายหน่วยงานรวมถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และสำนักงานตำรวจมณฑลเหอหนาน
เอกสารนี้ได้รับการเผยแพร่ในช่วงที่รัฐบาลจีนวิจารณ์สำนักข่าวต่างชาติหลายแห่งเกี่ยวกับการการรายงานข่าวน้ำท่วมในมณฑลเหอหนาน
คอร์เนอร์ ฮีลีย์ ผู้อำนวยการของ IPVM กล่าวว่า "ยังไม่มีความเข้าใจในโครงสร้างทางเทคนิคเกี่ยวกับการสอดแนมขนานใหญ่ในจีนมากนัก...แต่การสร้างเทคโนโลยีสอดแนมขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อช่วยให้การกดขี่นักข่าวทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นเรื่องใหม่"
"เอกสารเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสาธารณะของจีนต้องการจากการสอดแนมขนานใหญ่"
คาดว่า มีการใช้งานระบบการจดจำใบหน้าของจีนทั่วประเทศแล้วในขณะนี้
เมื่อปีที่แล้ว วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า หัวเว่ย ได้ทดสอบซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถจดจำใบหน้าของคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์และแจ้งเตือนตำรวจได้
โซฟี ริชาร์ดสัน ผู้อำนวยการประจำประเทศจีนของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า "เป้าหมายนี้น่ากลัว ทำให้ทุกคนรู้ว่า พวกเขาถูกจับตามองได้ และจะถูกจับตามอง พวกเขาไม่รู้ว่า อะไรที่จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์"