รีเซต

สื่อท็อปในอัฟกานิสถาน เดินหน้าออกอากาศต่อ ท่ามกลางความกลัวกลุ่มตาลิบัน

สื่อท็อปในอัฟกานิสถาน เดินหน้าออกอากาศต่อ ท่ามกลางความกลัวกลุ่มตาลิบัน
ข่าวสด
4 กันยายน 2564 ( 21:45 )
67
สื่อท็อปในอัฟกานิสถาน เดินหน้าออกอากาศต่อ ท่ามกลางความกลัวกลุ่มตาลิบัน

สื่อท็อปในอัฟกานิสถาน - วันที่ 4 ก.ย. เอเอฟพี รายงานสถานการณ์สื่อในอัฟกานิสถาน ผ่านสถานีโทรทัศน์โตโล เครือข่ายทีวีเสรีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ยังออกอากาศท่ามกลางความหวาดกลัวกลุ่มตาลิบัน

 

 

 

เป็นไปตามการตัดสินใจของคณะผู้บริหารของโตโล หลังกลุ่มตาลิบันเข้ากรุงคาบูลเมื่อเย็นวันที่ 15 ส.ค. แต่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้กำลังเผชิญอนาคตไม่แน่นอน เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์และวิทยุอื่นๆ ภายใต้ระบอบตาลิบัน 2.0 ที่กลับมาปกครอง และส่งสัญญาณแห่งความหวาดกลัวไปถึงสื่อ

 

 

เนื่องจากอัฟกานิสถานภายใต้ระบอบตาลิบันยุคแรกระหว่างปี 2539-2544 ห้ามรายการโทรทัศน์และรายการบันเทิงส่วนใหญ่ และไม่มีสื่อเป็นพื้นที่พูด อีกทั้งตลอด 20 ปีที่ก่อความไม่สงบหลังจากนั้น นักรบติดอาวุธสังหารและข่มขู่นักข่าวไปหลายคน

 

 

 

นายล๊อตฟุลเลาะห์ นาจาฟีซาดา ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์โตโล ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีทางโทรศัพท์ว่า การเข้ายึดของกลุ่มตาลิบันทำให้สื่อตกที่นั่งลำบากอย่างยิ่งที่จะทำงานของตัวเองต่อไปหรือไม่ "ในฐานะสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เราไม่มีเวลาที่จะหยุดพักและทบทวนแม้แต่ชั่วโมงเดียว"

 

 

ส่วนสาเหตุที่โตโลออกอากาศต่อไป เพราะมีหน้าที่นำเสนอข่าว อีกทั้ง เพราแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเจรจากับกลุ่มตาลิบันเพื่อขอกลับมาออกอากาศใหม่หากสถานีเลือกจอดำไป

 

แม้ว่าผู้นำกลุ่มตาลิบันจะขอให้สื่อในอัฟกานิสถานทำหน้าที่ตามปกติ อีกทั้ง ปรากฏภาพที่เจ้าหน้าที่ตาลิบันให้สัมภาษณ์กับผู้ประกาศข่าวหญิงในรายการข่าว โตโล นิวส์ เพื่อทำให้คนเชื่อว่า กลุ่มตาลิบานจะนุ่มนวลกว่าครั้งที่ผ่านมา แต่ชาวอัฟกันหลายคนรวมถึงสื่อเองกลับไม่เชื่อ

นายซาอาด โมฮ์เซนี ซีโอเอแ

 

ห่งโมบี กรุ๊ป (Moby Group) บริษัทแม่ของสถานีโทรทัศน์โตโล แจ้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองนักข่าว หรือซีพีเจ (CPJ) ถึงความรู้สึกกลัวและประหม่าว่า "ทุกคนต่างนอนไม่หลับ แต่สิ่งที่ผู้ชมกำลังประสบนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก"

 

"ครอบครัวฉันจะถูกคุกคาม"

ชัยชนะของกลุ่มตาลิบันทำให้สื่อเสรีของอัฟกานิสถานอยู่ในขั้นวิกฤต องค์นักข่าวไร้พรมแดน หรืออาร์แอสแอฟ (RSF) ระบุว่า สื่อเอกชนราว 100 แห่งต้องปิดตัว

 

 

สำนักข่าวปัจฮ์วอก สื่ออิสระอัฟกานิสถานอีกแห่ง กล่าวว่า สื่อหลายแห่งปิดตัวเนื่องจากวิกฤตทางการเงินจากการยึดอำนาจของกลุ่มตาลิบัน

 

 

อีกทั้ง เป็นการบีบให้สตรีหลายคนต้องออกจากอุตสาหกรรมสื่อด้วย ตามที่อาร์แอสแอฟระบุว่า เหลือนักข่าวหญิงเพียง 76 คน ในกรุงคาบูล เมืองหลวง จากเดิมเมื่อปีที่แล้วที่มีมากถึง 700 คน ส่วนนอกเมืองหลวง นักข่าวหญิงส่วนใหญ่ถูกบีบเลิกทำงานด้วย

 

 

 

 

นอกจากนี้ มีรายงานการข่มขู่ การล่วงละเมิด และความรุนแรงนักข่าวด้วย เช่น เหตุการณ์ช็อกที่กลุ่มนักรบตาลิบันบุกห้องส่งสถานีโทรทัศน์เอกชน ยืนเรียงหน้ากระดานถือปืนไรเฟิลด้านหลังโต๊ะผู้ประกาศข่าว ขณะที่ผู้บัญชาการกลุ่มนักรบอ่านแถลงการณ์ขอให้ผู้ชมอย่าหวาดกลัว

 

 

ภัยคุกคามเช่นนี้ทำให้นักข่าวอัฟกันหลายคนหลบหนีออกนอกประเทศ รวมถึง น.ส.เบเฮชตา อาร์กันด์ ผู้ประกาศข่าวหญิงแห่งรายการข่าวโตโล นิวส์ ที่สัมภาษณ์สดตัวต่อตัวกับตัวแทนกลุ่มตาลิบัน

 

 

"เป็นเพราะดิฉัน ครอบครัวดิฉันจะถูกกลุ่มตาลิบันคุกคาม" น.ส.อาร์กันด์แจ้งต่อนักการทูตในประเทศกาตาร์เมื่อวันพุธที่ 1 ก.ย.

 

ปฏิวัติวัฒนธรรม

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นหลังสื่อเสรีอัฟกานิสถานเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ระบอบการปกครองของตาลิบันยุคแรกถูกโค่นล้มในปี 2544 โทรทัศน์หลายสิบช่อง และวิทยุมากกว่า 160 สถานี เกิดขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก และการลงทุนของเอกชน

 

 

รวมถึงสถานีโทรทัศน์โตโล และรายการข่าวโตโล นิวส์ ของโมบี กรุ๊ป ช่องที่มีผู้ชมมากที่สุดในอัฟกานิสถาน กลายเป็นตัวตนของการปฏิวัติวัฒนธรรม เนื่องจากนำเสนอรายการที่เกิดขึ้นไม่ได้ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มตาลิบัน ตั้งแต่การแข่งขันร้องเพลงมิวสิกวิดีโอสไตล์อเมริกันไอดอล ละครน้ำเน่า และแม้แต่รายการดีเบตเลือกตั้งประธานาธิบดีคนแรกของอัฟกานิสถาน

 

ที่สำคัญ สถานีโทรทัศน์โตโล และเครือข่ายสื่ออื่นๆ ของอัฟกานิสถาน ยังเปิดพื้นที่และโอกาสแก่ผู้หญิงที่ถูกกลุ่มตาลิบันกีดกันไม่ให้ใช้ชีวิตนอกบ้าน เรียนหนังสือ และทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่ตอนนี้เกรงจะย้อนกลับไปเหมือนเดิม หลังฝ่ายบันเทิงของสถานีโทรทัศน์โตโลถอดคอนเทนต์บางส่วนออกไป

 

สมองไหล

จนถึงตอนนี้กลุ่มตาลิบันยังไม่ได้ออกคำสั่งอย่างเป็นทางการใดๆ ต่อสื่อ แต่สื่อส่วนใหญ่อาศัยเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้กลุ่มตาลิบันไม่พอใจ และบางส่วนยังวางแผนในกรณีฉุกเฉินด้วย

 

 

เช่น โมบี กรุ๊ป กำลังพิจารณาทางเลือกทำงานจากต่างประเทศ หากมีการปราบปรามสถานีโทรทัศน์ โตโล โดยนายโมฮ์เซนี ซีอีโอโมบี กรุ๊ป กล่าวว่า คำสั่งต่างๆ เช่น ห้ามผู้หญิงเป็นนักข่าว หรือเซ็นเซอร์สื่อ เป็นการ "ล้ำเส้น"

 

 

ขณะเดียวกัน โมบี กรุ๊ป อยู่ระหว่างการจ้างงานเพื่อพยายามทดแทนพนักงานหลายสิบคนที่ลาออกไปหลังกลุ่มตาลิบันเข้ายึดกรุงคาบูล

 

 

"น่าเศร้าที่สูญเสียผู้มีความสามารถมากมายไปเช่นนี้ และเห็นคนรุ่นใหม่ที่เราทุ่มเทซึ่งสามารถทำอะไรมากมายได้เพื่อประเทศชาติจำใจต้องลาออก ปรากฏการณ์สมองไหลเช่นนี้จะทำให้เราต้องใช้เวลาอีกสองทศวรรษเพื่อสร้างผู้มีความสามารถแบบนั้นขึ้นมาอีก" นายโมฮ์เซนี ซีอีโอโมบี กรุ๊ป กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง