รีเซต

แฉเผด็จการพม่า สอบนักข่าวจนตาย ชี้กองทัพเกลียด-มองสื่อเป็นศัตรู

แฉเผด็จการพม่า สอบนักข่าวจนตาย ชี้กองทัพเกลียด-มองสื่อเป็นศัตรู
ข่าวสด
16 ธันวาคม 2564 ( 22:40 )
55

แฉเผด็จการพม่า - วันที่ 16 ธ.ค. เรดิโอฟรีเอเชียรายงานสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนที่กำลังถูกโจมตีอย่างหนักจากรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา (พม่า) ส่งผลให้มีผู้สื่อข่าวสังเวยชีวิตแล้ว 1 ราย จากการที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมขณะถ่ายภาพข่าว และถูกสอบสวนจนเสียชีวิต

 

ผู้เสียชีวิต ทราบชื่อว่า นายโซ ไนง์ อายุ 30 ปี เป็นช่างภาพข่าวอิสระ ที่ถูกจับกุมขณะถ่ายภาพการประท้วงเงียบต่อเผด็จการทหารพม่าในเขตลธา นครย่างกุ้ง เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล เมื่อ 10 ธ.ค. โดยนายโซ ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปคุมขังเพื่อสอบสวน แต่ต่อมากลับพบว่าเสียชีวิต

 

 

ด้านครอบครัวของนายโซ ติดต่อขอให้บรรดาเพื่อนๆ นายโซ ลบข้อความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายโซออกจากโลกออนไลน์โดยไม่ชี้แจงเหตุผล และไม่ยอมรับโทรศัพท์ติดต่อสัมภาษณ์จากเรดิโอฟรีเอเชีย

 

ผู้สื่อข่าว หนึ่งในเพื่อนของนายโซ ที่ขอให้ปิดชื่อเป็นความลับ กล่าวว่า นายโซ เป็นช่างภาพข่าวอิสระที่มีประสบการณ์สูงและทำงานเก็บภาพการประท้วงในพม่ามาตั้งแต่ที่กองทัพยึดอำนาจเมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา

 

เพื่อนนายโซ ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่แรก เพราะกองทัพพม่าพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะปราบปรามการต่อต้านของประชาชน และปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่างๆ

 

"ช่างภาพข่าวและผู้สื่อข่าวคลิปวิดีโอนั้นเป็นกลุ่มสื่อที่สามารถบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานที่ไม่มีทางปฏิเสธได้ และนำไปเปิดโปงให้ประชาคมโลกได้รับรู้ ทำให้กองทัพนั้นจะไม่แสดงความปรานีใดๆ ต่อนักข่าว"

 

"นักข่าวพวกนี้ยังถูกตัดสินโทษจำคุกที่ยาวนานหลายปีโดยไม่มีเหตุผลที่ถูกต้อง เพียงเพราะพวกเค้าถือกล้องถ่ายภาพขณะถูกจับกุม ตอนนี้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง เพราะพวกมันจับตัวเค้าไป พอพบว่าเป็นช่างภาพข่าวก็ฆ่าทิ้งเสียเฉยๆ"

 

เพื่อนของนายโซคนนี้ยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันคุ้มครองการทำงานของผู้สื่อข่าวที่กำลังอยู่ภายใต้การโจมตีจากกองทัพพม่า

 

ขณะที่องค์กรสื่อไร้พรมแดน หรืออาร์แอสแอฟ จากฝรั่งเศส เรียกร้องให้โลกช่วยกันประณามรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าให้หนักแน่น และยกระดับมาตรการคว่ำบาตร เพื่อตอบโต้การสังหารผู้สื่อข่าวที่เกิดขึ้น

 

นายอ่อง กยอว์ ผู้สื่อข่าวจากสื่อท้องถิ่น Democratic Voice of Burma ซึ่งเคยมีประสบการณ์ถูกจับกุมและนำตัวไปซ้อมทรมานขณะสอบสวน

 

ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวกับกลุ่มนักโทษจำนวนมากตามคำสั่งของเผด็จการทหารที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อนานาชาติ เมื่อ 28 ก.ย. โดยนายกยอว์ ยืนยันว่า การสอบสวนนั้นเจ้าหน้าที่ใช้การซ้อมทรมานตนจริง

 

"พวกมันเอาข่าวมาอ่านให้ฟังครับ ไม่สำคัญว่าของสำนักไหน พออ่านละไม่ถูกใจ ก็ทรมาบทุบตีผม เตะผมด้วยอีโอ๊บจนน่วมไปหมด"

"พวกมันมองผู้สื่อข่าวเป็นศัตรูครับ มันจะพูดประมาณว่า พวก-ึงเนี่ยเขียนข่าวแบบนี้เหมือนกันหมด จากนั้นก็ทรมานทุบตีผม ต่อให้ข่าวนั้นไม่ได้เกี่ยวกับผม ผมไม่ได้มีส่วนเขียนขึ้นมาก็ตาม พวกมันจงเกลียดจงชังนักข่าวอย่างถึงที่สุดเลยครับ" กยอว์ ระบุ

ด้านนายมินต์ จอ อดีตสมาชิกสภาสื่อพม่า กล่าวว่า การใช้วิธีการสอบสวนใดๆ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

"ผมเข้าใจเรื่องไม่ชอบขี้หน้านักข่าวที่รายงานและทำข่าวเรื่องการประท้วงต่อต้านพวกเค้า แต่มันไม่มีเหตุผลสมควรอันใดที่นักข่าวคนนั้นเค้าจะต้องมาสังเวยชีวิตระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่"

 

"ไม่ใช่แต่นักข่าว พลเรือนผู้บริสุทธิ์อีกหลายคนก็ต้องมาตายในทำนองนี้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ควรต้องมีคำอธิบายออกมา ไม่ก็การสืบสวนเพื่อหาตัวผผู้กระทำ หรือผู้รับผิดชอบมาลงโทษ การตายของนักข่าว นับว่าเป็นสัญลักษณ์ของความตายของเสรีภาพสื่อ"

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของเรดิโอฟรีเอเชียที่จะติดต่อขอคำอธิบายจากพลตรีซอว์ มิน ตุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารนิเทศ ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่มีผู้ใดรับโทรศัพท์

 

ทั้งนี้ ข้อมูลของเรดิโอฟรีเอเชียบ่งชี้ว่ามีนักข่าวถูกเผด็จการทหารพม่าจับกุมแล้วอย่างน้อย 110 คน ตั้งแต่การยึดอำนาจ ล่าสุด ยังมีนักข่าวถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 53 คน ในเรือนจำทั่วประเทศ

 

ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกันกับของอาร์แอสแอฟ ที่ระบุว่า ยังมีนักข่าวถูกคุมขังในพม่าอยู่อย่างน้อย 57 คน ขณะที่รายงานเสรีภาพสื่อประจำปี 2563 (World Press Freedom Index) ของอาร์แอสแอฟจัดพม่าอยู่ในลำดับที่ 140 จาก 180 ชาติ

 

นอกจากนี้ เผด็จการทหารพม่ายังจับกุมพลเรือนไปแล้วกว่า 8 พันคน และสังหารอีก 1,343 ราย ตั้งแต่การยึดอำนาจ (ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย) ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านที่กำลังทำให้พม่าใกล้เข้าสู่สภาพสงครามกลางเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง