รีเซต

มาลาวีเผา วัคซีนแอสตราเซเนกาหมดอายุเกือบ 20,000 โดส แม้WHO ยืนยันยังใช้ได้

มาลาวีเผา วัคซีนแอสตราเซเนกาหมดอายุเกือบ 20,000 โดส แม้WHO ยืนยันยังใช้ได้
TNN World
21 พฤษภาคม 2564 ( 09:12 )
304

Malawi: มาลาวีเผาทำลายวัคซีนโควิด-19 AstraZeneca หมดอายุเกือบ 20,000 โดส ทั้ง ๆ ที่ WHO ยืนยันยังใช้ได้ แต่ก็ไม่เสี่ยงฉีดให้ประชาชน

 


มาลาวี เผาทำลายวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca จำนวน 19,610 โดสในวันพุธ (19 พฤษภาคม) หลังจากวัคซีนหมดอายุไปแล้ว 18 วันเมื่อเดินทางถึงประเทศ แม้ว่าจะได้รับการยืนยันจากสหภาพแอฟริกา (AU) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าวัคซีนมีความปลอดภัย สามารถใช้ได้จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 

 


ทั้งนี้ วัคซีนโควิด AstraZeneca จำนวน 102,000 โดส เดินทางถึงมาลาวีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ภายใต้โครงการร่วมของ AU และ WHO แต่วัคซีนหมดอายุในวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา และมาลาวีได้ใช้งานไปประมาณ 80% ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
จอห์น เอ็นเคนกาซง ผู้อำนวยการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของแอฟริกา (Africa CDC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ AU แถลงข่าวในช่วงปลายเดือนที่แล้วว่า วัคซีนล็อตนี้อาจถูกใช้ไปจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม ตามคำแนะนำเพิ่มเติมของบริษัทผู้ผลิต คือ Serum Institute of India (SII) บริษัทผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่ของอินเดีย

 


เขาและ WHO ยังได้เรียกร้องให้ประเทศในแอฟริกา อย่าใช้วัคซีนที่บริจาคให้แก่พวกเขาอย่างสิ้นเปลือง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาลาวี แถลงว่า จะไม่ฉีดวัคซีนหมดอายุให้ประชาชนของตน 

 


กุมบีเซ กันโดโด ชีปอนดา รัฐมนตรีสาธารณสุขของมาลาวี ซึ่งยืนอยู่นอกสถานที่เผาทำลายวัคซีน กล่าวว่า มันขัดต่อนโยบายของรัฐบาลในการนำเอาวัคซีนหมดอายุมาใช้กับประชาชน เธอยังช่วยโยนวัคซีนที่ห่อด้วยถุงพลาสติกสีแดงเข้าเตาเผาด้วย 
ส่วนเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของแอฟริกา ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับ SII ก็ยังไม่ได้แถลง 

 


องค์การยาของอินเดียอนุญาตในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ให้ใช้วัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดย SII ได้ถึง 9 เดือนนับจากวันผลิต เมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่อนุญาตก่อนหน้านี้

 


ส่วนซูดานใต้ ก็ได้รับวัคซีน 59,000 โดสจาก AU และไม่ได้ใช้ เพราะหมดอายุเช่นกัน
กระทรวงสาธารณสุขมาลาวี แถลงว่า มาลาวีฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 335,232 โดส จนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม มีผู้ติดเชื้อโควิด 34,231 คน และเสียชีวิต 1,153 คน

 


ประเทศในแอฟริกาพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้วัคซีนโควิดเพียงพอ เพื่อฉีดให้ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งหลายประเทศต้องพึ่งพาวัคซีนบริจาคภายใต้โครงการ COVAX ที่สนับสนุนโดย WHO และหุ้นส่วน ซึ่งรวมทั้งพันธมิตรวัคซีน GAVI ด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง