รีเซต

เตือนภัย 6 กลโกง "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" หลอกให้โอนเงิน

เตือนภัย 6 กลโกง "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" หลอกให้โอนเงิน
TNN ช่อง16
17 มกราคม 2567 ( 09:46 )
63
เตือนภัย 6 กลโกง "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" หลอกให้โอนเงิน

โฆษกรัฐบาล ย้ำเตือนพี่น้องประชาชน ระวัง 6 กลโกงทางโทรศัพท์ของแก๊ง Call Center รู้เท่าทัน ไม่หลงเชื่อ ตรวจสอบข้อมูลจากสถาบันการเงินทุกครั้ง


นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่ารัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชน ไม่ต้องการให้ตกเป็นเหยื่อกลโกงแก๊งคอลเซนเตอร์ (Call Center) ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชน ระวัง 6 กลโกงทางโทรศัพท์ของแก๊ง Call Center ที่มักสร้างเรื่องหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพในยุคปัจจุบัน สามารถรับมือและป้องกันตนเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวง


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สรุป 6 รูปแบบกลโกงทางโทรศัพท์ของแก๊ง Call Center ที่มักใช้หลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ เพื่อนำเงินของเหยื่อออกจากบัญชีด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ดังนี้


1. บัญชีเงินฝากถูกอายัด/เป็นหนี้บัตรเครดิต เป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจ และง่ายต่อการชักจูงเหยื่อให้โอนเงิน


2. บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน โดยมิจฉาชีพจะหลอกถามข้อมูล และหากพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีจำนวนมาก จะหลอกให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ


3. เงินคืนภาษี มิจฉาชีพมักใช้ในช่วงที่มีการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืน ซึ่งจะต้องยืนยันรายการและทำตามคำบอกที่ตู้ ATM แต่แท้จริงแล้วเป็นการหลอกให้เหยื่อโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ


4. โชคดีรับรางวัลใหญ่ มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัท หรือตัวแทนองค์กร แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อ และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จะหลอกให้เหยื่อโอนเงินค่าภาษีให้


5. หลอกขอข้อมูลส่วนตัว มิจฉาชีพอาจอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน หลอกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น อัพเดทข้อมูลส่วนตัว สมัครงานออนไลน์ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวสำคัญ เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน ก่อนนำไปใช้ในทางทุจริต


6. โอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ และขอให้โอนเงินคืน ซึ่งเงินที่โอนเข้ามานั้น เป็นเงินที่มิจฉาชีพหลอกเหยื่อรายอื่นให้โอนเข้ามา เพื่อใช้บัญชีเหยื่อเป็นที่พักเงิน หรือเป็นเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการป้องกัน หากประชาชนพบเจอเหตุการณ์ดังกล่าว โดยขอให้มีสติทุกครั้งเมื่อรับสายโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย คิดทบทวน หากไม่แน่ใจ ให้หยุดการสนทนา และหาข้อมูลหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง เพื่อโทรสอบถามความจริง ทั้งนี้ ในกรณีที่มีคนโอนเงินผิดบัญชีมาที่บัญชีเรา ไม่ควรโอนเงินคืนด้วยตนเอง ควรสอบถาม call center หรือสาขาของธนาคาร (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=693665846239714&set=pb.100067889138628.-2207520000&type=3


“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ห่วงใยประชาชน เน้นย้ำการทำงานเชิงรุก ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ควบคู่กับการสร้างการตระหนักรู้ ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงภัยจากมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ โดยเชื่อมั่นว่าข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชน รู้เท่าทันกลโกง ไม่หลงเชื่อคำแอบอ้างของมิจฉาชีพ” นายชัย กล่าว


ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลระบุว่า แต่หากหลงเชื่อและโอนเงินให้กับมิจฉาชีพแล้ว ขอให้ตั้งสติ รวบรวมข้อมูล หลักฐาน และไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือแจ้งสายด่วน สอส. 1441 หรือแจ้งความออนไลน์ที่ https://www.thaipoliceonline.com 





ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง