รีเซต

"โกลเบล็ก” หวั่น ‘ม็อบ’ ทำดัชนีหลุด 1,200 จุด กดตลาดซึมยาว

"โกลเบล็ก” หวั่น ‘ม็อบ’ ทำดัชนีหลุด 1,200 จุด กดตลาดซึมยาว
มติชน
26 ตุลาคม 2563 ( 09:04 )
140
"โกลเบล็ก” หวั่น ‘ม็อบ’ ทำดัชนีหลุด 1,200 จุด กดตลาดซึมยาว

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยในรายการคลุกวงหุ้นว่า ภาพรวมตลาดหุ้นประจำสัปดาห์นี้ เป็นช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้มีลุ้นว่า จะมีการทำวินโดวเดรสซิง (Window dressing) หรือการทำตัวเลขทางบัญชีให้ดูดีขึ้น โดยนักลงทุนสถาบัน กองทุน และบริษัทที่ลงทุนในหุ้น จะทำการซื้อเพื่อดันราคาหุ้น ให้หุ้นมีราคาปิดที่สูงขึ้นออกมา ซึ่งต้องลุ้นว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยเฉพาะกดดัน ได้แก่ การชุมนุมแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากหากข้ามไปถึงเดือนตุลาคมนี้ จะมีการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเปรียบเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการร่วมชุมนุม จึงมองว่าจะเป็นแรงกดดันการปรับระดับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง จะส่งผลกดดันให้ดัชนีหุ้นไทยปรับระดับลดลงหลุด 1,200 จุดหรือไม่ ต้องอ้างอิงการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวสามารถจบลงได้รวดเร็ว ไม่มีความยืดเยื้อ และไม่มีความรุนแรง ทำให้หากการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง ยังอยู่ในลักษณะดังกล่าวต่อไป ผลกระทบต่อตลาดหุ้น น่าจะไม่ถึงขั้นทำให้ดัชนีหุ้นหลุดระดับ 1,200 จุด แต่หากมีความรุนแรงหรือยืดเยื้อมากขึ้น จะเป็นความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนต่อไป

 

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ที่ต้องติดตาม เป็นแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเป็นผลมาจากแรงกดดันที่เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ขึ้นในประเทศโซนยุโรป ซึ่งการระบาดซ้ำของโควิด-19 จะกดดันความต้องการในการใช้น้ำมันมากขึ้น รวมถึงพันธมิตรองค์กรผู้ค้าน้ำมัน (โอเปก) จากเดิมที่มองว่าอาจสามารถควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันได้ แต่มีความเสี่ยงจากประเทศลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกาเหนือ ที่อาจผลิตน้ำมันออกมาสู่ตลาดได้มากขึ้น จึงเป็นแรงกดดันทำให้ราคาน้ำมันไม่สามารถยืนเหนือระดับ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้

 

“ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม เป็นตัวเลขของภาคการส่งออกไทย ที่ยังติดลบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ และการปรับประมาณการตัวเลขจีดีพี ที่มีการปรับลดลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นแรงกดดันภาพรวมการเติบโตในระยะต่อไป สำหรับกลยุทธ์ที่แนะนำในการลงทุน ถือเป็นโอกาสเข้าซื้อสะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่ให้ทยอยซื้อ เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำสุดจริงๆ” นางสาววิลาสินี กล่าว

 

ส่วนหุ้นเด่นจะเป็นตัวไหน ต้องติดตามในรายการคลุกวงหุ้น!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง