รีเซต

บริษัทเอกชนยื่นตรวจสอบประมูลงานทำความสะอาดสภาผู้แทนราษฎร

บริษัทเอกชนยื่นตรวจสอบประมูลงานทำความสะอาดสภาผู้แทนราษฎร
TNN ช่อง16
28 กันยายน 2567 ( 15:00 )
12

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567 เรือเอกหญิงกัณตวรรณ แก้วบัวดี กรรมการผู้จัดการบริษัท มัดชา เซอร์วิส จำกัด ได้นำเอกสารหลักฐานเข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชน กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเสนอราคางานจ้างเหมาทำความสะอาดของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร


เรือเอกหญิงกัณตวรรณเปิดเผยว่า บริษัทได้รับการว่าจ้างในโครงการทำความสะอาดภายในสภาฯ มานานกว่า 10 ปี โดยที่ผ่านมาได้ประมูลแข่งขันเสนอราคาตามขั้นตอนปกติ แต่ในการประมูลครั้งล่าสุดสำหรับงานระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กลับมีความไม่โปร่งใสในกระบวนการ


"เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่สภาฯ ส่งอีเมลมาขอให้บริษัทส่งใบเสนอราคา โดยแจ้งว่ามีการแก้ไขทีโออาร์ เราเข้าใจว่าเป็นการขอราคากลางเพื่อไปทำราคากลาง จึงส่งราคาเดิมกลับไป เพราะขอบเขตงานใช้จำนวนคนเท่าเดิม" เรือเอกหญิงกัณตวรรณกล่าว


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 กลับมีประกาศว่าบริษัทอื่นชนะการประมูล โดยเสนอราคา 15,099,840 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่บริษัทมัดชา เซอร์วิสเสนอไปประมาณ 400,000 บาท


เรือเอกหญิงกัณตวรรณยังเปิดเผยว่า เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่สภาฯ ได้รับคำตอบว่าเป็นการยื่นราคาจริง ไม่ใช่การสืบราคากลางอย่างที่เข้าใจ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่บางคนกล่าวกับพนักงานของบริษัทว่า "มัดชาอยู่ไม่ได้แล้ว ออกไปบ้าง ออกไปอยู่ที่อื่นบ้าง ให้เจ้าอื่นเขามาทำบ้าง"


"การยื่นราคางานระดับ 15 ล้านบาท ปกติต้องมีเอกสารประกอบมากกว่านี้ แต่ครั้งนี้มีแค่ใบเสนอราคาใบเดียว ผิดสังเกตหลายอย่างมาก" เรือเอกหญิงกัณตวรรณกล่าว


ด้านนางวราพร เกตุแก้ว ผู้จัดการโครงการงานรักษาความสะอาดในรัฐสภาของบริษัท มัดชา เซอร์วิส จำกัด ได้เข้ายื่นร้องเรียนต่อรัฐสภาเพื่อขอให้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว


ขณะที่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า การคัดเลือกบริษัทเป็นไปตามขั้นตอนของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง "เป็นเรื่องของคณะกรรมการ ต้องสอบถามคณะกรรมการที่จัดซื้อจัดจ้างเรื่องนี้ ซึ่งผมก็ต้องเห็นชอบตามที่คณะกรรมการเสนอมา ขั้นตอนและรายละเอียด ผมไม่ทราบ" 


ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากงบประมาณออกช้า จึงใช้วิธีคัดเลือกบริษัทมาดำเนินการในช่วง 3 เดือนก่อน หลังจากนั้นจะมีการประกวดราคาอีกครั้ง "โดยปกติเราจะใช้การประมูลแบบอีบิดดิ้ง แต่ครั้งนี้เร่งด่วน จึงใช้วิธีการคัดเลือก" ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์กล่าว


ทั้งนี้ ประเด็นความไม่โปร่งใสในการประมูลงานภาครัฐยังคงเป็นหัวข้อที่สังคมให้ความสนใจ และต้องการให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างกะทันหัน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง