ชิลีเปิดตัวทุ่นลอยน้ำอัจฉริยะเพื่อปกป้องวาฬในทะเลจากการชนของเรือ
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกติดปากว่าเอไอ (AI) ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า ล่าสุด รัฐบาลประเทศชิลีร่วมมือกับมูลนิธิเมริ (MERI Foundation) ได้ปล่อยทุ่นลอยน้ำ (Buoy) กลุ่มแรกภายใต้ โครงการริเริ่มบลูโบต (The Blue Boat Initiative) ที่ใส่ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในน่านน้ำทะเลของชิลี เพื่อให้ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์วาฬจากเรือต่าง ๆ ที่มักชนวาฬอยู่เป็นประจำ
ทุ่นลอยน้ำถูกพัฒนาขึ้นจากระบบเซ็นเซอร์ด้านการสำรวจภาคพื้นสมุทร รวมถึงโปรแกรมลิโด้ (LIDO: Listening to the Deep Ocean Environment) ที่พัฒนาและขับเคลื่อนด้วยพลังของปัญญาประดิษฐ์ ทั้งหมดจะทำงานร่วมกันเพื่อการระบุประเภทและตำแหน่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในน้ำ (วาฬจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ใช่ปลา) ก่อนส่งสัญญาณไปยังเรือที่อยู่ใกล้ ๆ ให้หลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือเพื่อไม่ให้ชนวาฬหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ และยังติดตั้งระบบตรวจจับระดับออกซิเจนในน้ำทะเล อุณหภูมิ และข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอีกด้วย
ทุ่นลอยน้ำอัจฉริยะเพื่อปกป้องวาฬในชิลี
โครงการดังกล่าวติดตั้งทุ่นลอยน้ำที่อ่าวคอร์โควาโด (Gulf of Corcovado) ทางตอนใต้ของประเทศ ห่างจากชายฝั่งชิลีราว ๆ 1,100 กิโลเมตร โดยเป้าหมายที่จะติดตั้งทุ่นลอยน้ำอย่างน้อย 6 ตัว เพื่อทำโครงข่ายป้องกันให้กับวาฬทั่วทั้งอ่าว ส่วนระยะยาวจะนำทุ่นไปติดตั้งในเส้นทางอพยพของวาฬระหว่างเขตแอนตาร์กติกา (Antarctica) กับเขตเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของวาฬได้ในอนาคต
โครงการริเริ่มบลูโบต (The Blue Boat Initiative) เป็นหนึ่งในความพยายามปกป้องวาฬจากเงื้อมมือมนุษย์ ข้อมูลจากองค์กรเพื่อความยั่งยืนโลก (World Sustainability Organization) คาดการณ์ว่าแต่ละปีมีสัตว์ที่ตายลงไปด้วยฝีมือมนุษย์กว่า 18,000 - 25,000 ตัว ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาช่วยอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้ไว้จะช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น
ที่มาข้อมูล Engadget
ที่มารูปภาพ Blue Boat Initiative