รีเซต

โควิดรอบใหม่รั้งเศรษฐกิจไทยปี 64 หวังฟื้นแต่เสี่ยงฟุบ

โควิดรอบใหม่รั้งเศรษฐกิจไทยปี 64 หวังฟื้นแต่เสี่ยงฟุบ
TNN ช่อง16
1 มกราคม 2564 ( 15:08 )
106

ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 64 ต้องแตะเบรกชะลอตัวลง หลังการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งจนถึงวันนี้ แม้สำนักวิจัยต่างๆ จะยังคงคาดการณ์ถึงการฟืนตัวในปีหน้า แต่ก็ได้หมายเหตุตัวโตๆ ไว้แล้วว่า ต้องติดตามดูสถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ ว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร และวัคซีนที่หวังจะออกมาสยบโควิด จะมาได้เร็วและได้ผลอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ส่วนค่ายไหนให้เป้าหมายเท่าไหร่ตามไปดูกันเลย

เริ่มจาก "ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจหรือ EIC ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)"  ที่ประเมินว่า จีดีพีไทยในปี 64 จะขยายตัวที่ 3.8% ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดิมที่มองไว้ 3.5% โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกจากฐานที่ต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากในงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงการกระจายวัคซีนในหลายประเทศ ส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าไป  เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้ในช่วงปลายปี

 โดยคาดว่าจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวในระดับ 8 ล้านคน จากปี 62 ที่มีจำนวนเกือบ 40 ล้านคน ขณะที่การส่งออกแม้ว่าจะได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวในบางประเทศ และอาจมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยคาดการณ์การส่งออกปีหน้าที่ 4.7% จากปีนี้ที่ -8% และจีดีพีปีนี้ติดลบ -6.5% จากเดิมที่ -7.8% จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้  ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นตัว U มากกว่าตัว V แม้จะมีวัคซีนเข้ามา เพราะกว่าวัคซีนจะมาถึงไทยคงปลายปีหน้า และสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ขณะที่ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย"ประเมินจีดีพีไทยปี 64  ขยายตัวได้ 2.6% โดยมีกรอบการขยายตัวในช่วง 0-4.5% ซึ่งอาจไม่เติบโต กรณีเลวร้ายหากวัคซีนโควิด-19 ยังใช้ได้น้อย ทำให้การเปิดประเทศให้ต่างชาติมาไทยยังจำกัด และเกิดโควิดรอบสองส่วนกรอบบนขยาย 4.5% มาจากหากวัคซีนผลิตได้จำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้มากขึ้น ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ยังต้องติดตามต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจปี 63 คาดจะติดลบ 6.7% โดยมีความเสี่ยงจากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า และปัจจัยการเมืองในประเทศ ในขณะที่ การส่งออกไทยในปี 64 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.0% หลังจากที่คาดว่าจะหดตัว 7.0% ในปี 63 นี้

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีหน้ามาจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคและการลงทุนเอกชน แต่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และคาดวัคซีนจะเข้ามาใช้ในไทยได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 / 64 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยเรื่องการเปิดรับต่างชาติเข้าเที่ยวไทยมากขึ้น โดยประเมินว่าปี 64 มีต่างชาติเที่ยวไทย 4.5-7 ล้านคน จากปีนี้ 6.7 ล้านคน  และต้องใช้เวลาถึง 4 ปี หรือปี 67 กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเข้าสู่ปกติก่อนโควิด  แต่ไทยมีความท้าทายเรื่องเงินบาทแข็งค่า เพราะไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามามาก และการส่งออกที่ยังมีต้นทุนสูงอยู่ 

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องมีมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางการคลัง โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่มากเท่ากับช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งยังมีงบเหลือไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่เหลือ 4 แสนล้านบาท และงบกลางดูแลผลกระทบโควิด-19 มีอยู่อีก 1.4 แสนล้านบาท โดยมั่นใจงบประมาณมีเพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ถ้าโควิด-19 ไม่ได้รุนแรง

ส่วน "สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)"  มองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกปีหน้าจะหดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาสหลังมีโควิดรอบ 2  การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะดุดไปบ้าง แต่ความหวังมาตรการที่ออกมาไม่ใช่การล็อกดาวน์ทั่วประเทศ และยังมีแรงสนับสนุนจากการส่งออก และมาตรการทางการคลังของภาครัฐ น่าจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด double-dip recession และได้ปรับลดจีดีพีไทยปีหน้าโตเพียง 2.6% จากเดิมคาดว่า  3%  ส่งออกบวก 6.1% จากปีนี้จีดีพีติดลบ 6.7%  ส่งออกติดลบ 7.1%  

 ด้าน "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)"  มองว่า  เศรษฐกิจไทยในภาพรวมทยอยฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวยังแตกต่างกันมากตามพื้นที่ และสาขาธุรกิจ โดยในระยะข้างหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกมาก จากสถานการณ์โควิด-19  ที่ยืดเยื้อในต่างประเทศ และการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ประกอบกับประสิทธิผลและการเข้าถึงวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเศรษฐกิจไทยในปี 63 คาดว่าจะหดตัว 6.6 % และปีหน้าจะขยายตัว 3.2 % ก่อนที่ปี 65 จะเร่งตัวขึ้นเป็น 4.8%  ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากผลการได้รับวัคซีนมากขึ้น

ขณะที่ การส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 7.4% จากเดิมคาดติดลบ 8.2% และปี 64 คาดว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 5.7% และปี 65 คาดขยายตัวได้ 5%อย่างไรก็ดี ธปท.มองว่า มาตรการภาครัฐจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง และต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

ปิดท้ายกันที่ความเห็นจากภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ซึ่งมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย  กกร.ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 63 หดตัวน้อยลงกว่าที่เคยคาดไว้เดิม โดยหดตัวอยู่ในกรอบ -6 % ถึง -7 % ขณะที่การส่งออกหดตัวในกรอบ -7 % ถึง -8 % ส่วนปี 64 แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญในระยะข้างหน้าที่ประชุม กกร.จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 2 % ถึง 4 % ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวในกรอบ 3 %ถึง 5 %

แม้ในภาพรวมบรรดาหน่วยงานเศรษฐกิจไทยจะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้น จากความหวังเรื่องการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจัยบวกต่างๆ ที่มองไว้ ยังคงมีความเปราะบางและความไม่แน่นอนอย่างสูงยิ่ง โดยเฉพาะในภาคต่างประเทศ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ยังคงต้องรับบทหนักต่อไป เพื่อประคองชีพจรเศรษฐกิจไทยให้ยังคงเต้นต่อไปได้รอการฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง