รีเซต

ดีเดย์ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้าน ลั่นไม่กระทบผู้ออม แบงก์รัฐรอรับส้มหล่น

ดีเดย์ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้าน ลั่นไม่กระทบผู้ออม แบงก์รัฐรอรับส้มหล่น
TNN ช่อง16
10 สิงหาคม 2564 ( 14:12 )
153
ดีเดย์ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้าน ลั่นไม่กระทบผู้ออม แบงก์รัฐรอรับส้มหล่น

 สิ้นสุดการเดินทางหลังจากที่ยื้อมาเป็นเวลานาน ในที่สุดสถาบันคุ้มครองเงินฝากก็ลดวงเงินการคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน ในวันที่ 11 ส.ค.นี้

   

จากเกณฑ์การคุ้มครองดังกล่าว ถ้าผู้ฝากมีเงินฝาก 3 บัญชี เช่น กสิกรไทย 5 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 10 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 12 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 27 ล้านบาท


พอถึงวันที่ 11 ส.ค.นี้ ผู้ฝากเงินรายดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองเพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชี ซึ่งรวมแล้ว 3 บัญชี ก็เท่ากับ 3 ล้านบาทเท่านั้น ในกรณีที่เกิดเหตุแบงก์ล้มละลายขึ้น


ส่วนเงินที่เหลืออีก 24 ล้านบาทนั้นจะได้รับการคุ้มครองบางส่วน หมายความว่าเมื่อแบงก์เจ๊ง สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะต้องเป็นผู้ดำเนินการชำระบัญชีทั้งหมด เงินที่ได้รับมาจากการขายทรัพย์สินจะนำมาจัดสรรปันส่วน ให้กับผู้ฝากเงิน ซึ่งขึ้นกับสินทรัพย์ที่ขายได้ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน


สำหรับคำถามที่ว่า ผู้ฝากเงินที่ต้องการเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ไทย 18 แห่ง เพื่อกระจายเงินฝากให้ได้รับความคุ้มครองหลายๆ แบงก์ จะทำได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าทำได้ แต่ก็จะได้รับความคุ้มครองเพียง 1 ล้านบาทต่อสถา บันการเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด    


โดยข้อมูลของสถาบันคุ้มครองเงินฝากระบุว่า วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท มีผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน 82.07 ล้านราย คิดเป็น 98.03 % ของผู้ฝากทั้งระบบ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังได้รับการดูแลหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ


ขณะที่ข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)พบว่าในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา จำนวนบัญชีเงินฝากทั้งระบบอยู่ที่ 109,317,612 บัญชี   แบ่งเป็นบัญชีเงินฝากที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีจำนวน 107,525,710 บัญชี หรือสัดส่วน 98.36%

 มากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปมีจำนวน 1,791,902 บัญชี  หรือ 1.64% 


ส่วนเงินฝากทั้งระบบอยู่ที่ 15,061,201 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท จำนวน 3,230,749 ล้านบาท 

คิดเป็นสัดส่วน 21.46% และบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปมีจำนวน 11,830,452 ล้านบาท สัดส่วน 78.54% 


ทั้งนี้หากย้อนอดีตกลับไปถามหาถึงต้นตอของการคุ้มครองเงินฝาก ก็ต้องไล่กลับไปถึงวิกฤติต้มยำกุ้งปี  2540  

ที่ค่าเงินบาทโดนโจมตีจากเฮดจ์ฟันด์ จนทำให้รัฐบาลในขณะนั้ันต้องตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้เงินบาทจากที่เคยคงที่แถวๆ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงฮวบฮาบไปแตะ 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ


ภาคธุรกิจที่กู้หนี้ยืมสินเงินทุนต่างประเทศ ต้องแบกหนี้อ่วมเพิ่มทวีคูณแบบไม่ทันตั้งตัว ธุรกิจเล็กใหญ่สิ้นเนื้อประดาตัวล้มตายกันเป็นจำนวนมาก กลายเป็นวิกฤติเอ็นพีแอล จนนำไปสู่การปิด 58 ไฟแนนซ์ และธนาคารพาณิชย์บางแห่งต้องล้มหายตายจาก ฉุดให้เศรษฐกิจตกตํ่าอย่างรุนแรง เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และมีปัญหาหนีเสียจำนวนมาก


กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเป็นพระเอกเข้าไปอัดฉีดเงินและเข้าไปช่วยเพิ่มทุนกู้วิกฤติให้สถาบันการเงิน ที่ปิดกิจการ 1.4 ล้านล้านบาท หรือ 12% ของจีดีพีปี 56 ก่อให้เกิดภาระงบประมาณของภาครัฐที่มาจากภาษีของประชาชน ในการจ่ายเงินคืนเงินให้ผู้ฝากมหาศาล


หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลจึงมีแนวคิดออกกฏหมายตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 11 ส.ค. 51 โดยกำหนดชัดเจนถึงสิทธิของผู้ฝากเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก มีหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน และมีการเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินมาเก็บสะสมไว้ในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก เพื่อใช้จ่ายคืนเงินผู้ฝากหากมีเหตุสถาบันการเงินล้ม ก็ไม่ต้องนำเงินภาษีมาใช้ในการจ่ายคืนผู้ฝากเงิน


สำหรับขอบเขตการคุ้มครองเงินฝากนั้น ผู้ฝากเงินทุกรายจะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาท กับสถาบันการเงินของไทยภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 18 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 12 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง ซึ่งจะคุ้มครองทันทีในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน


การคุ้มครองจะครอบคลุมบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท  1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน  โดยบัญชีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองต้องเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น


ส่วนที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง คือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ พันธบัตร หุ้นกู้  เงินฝากในสหกรณ์ แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงินเงินอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน



ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด โดยหากสถาบันการเงินมีปัญหาเงินฝากจะโอนคืนกลับให้ลูกค้าทันที โดยที่ลูกค้าไม่ต้องแจ้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ต้องมีการผูกบัญชีกับระบบพร้อมเพย์ ยกเว้นกรณีที่สถาบันการเงินที่ตนเองมีบัญชีเงินฝากอยู่ล้มละลายให้ไปเปิดบัญชีกับธนาคารใหม่ และผูกพร้อมเพย์ เงินก็จะโอนเข้าบัญชีลูกค้าทันทีโดยไม่ต้องมีการทวงถาม เพราะสถาบันฯเตรียมมาตรการรองรับล่วงหน้าไว้แล้ว


หากวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก มาเหลือ 1 ล้านบาทนั้น ถ้าดูจากข้อมูลของทั้งธปท. และสถาบันคุ้มครองเงินฝากดังที่กล่าวไป ในส่วนของประชาชนทั่วไปคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะผู้ฝากเงินที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน ยังมีถึง 98.03 % ของผู้ฝากทั้งระบบ



ขณะที่คนกระเป๋าหนักและเศรษฐีทั้งหลายก็ไม่สะเทือนเช่นกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีทางเลือกในการสะสมความมั่งคั่ง และกระจายเงินไว้ในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากเงินฝากอยู่แล้ว อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ และตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก หรือบางรายก็หันไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น


เพราะฉะนั้นในมุมผู้ฝากเงิน ในภาพรวมไม่ว่าจะรายใหญ่ รายเล็ก รายย่อย คงไม่ได้ถูกกระทบจากการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก จนถึงขั้นทำให้เกิดการแห่ถอนเงิน หรือตื่นตระหนกดำเนินการต่างๆ กับเงินฝากที่มีอยู่      


แต่ในมุมของสถาบันการเงินแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ เห็นจะเป็นแบงก์เฉพาะกิจของรัฐบาล(เอสเอฟไอ) ที่ยังคงมีรัฐบาลเป็นประกัน ทำให้เงินฝากทุกบาททุกสตางค์ในสถาบันการเงินกลุ่มนี้ เมื่อเทียบจากความรู้สึกของผู้ฝากเงินบาทส่วน อาจจะมีความปลอดภัยกว่า และมีความน่าสนใจที่จะโยกเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์มาไว้ในสถาบันการเงินของรัฐแทน โดยคาดว่า จะมีเงินฝากออกจากแบงก์พาณิชย์มาซบอกแบงก์รัฐไม่ต่ำกว่าหลักแสนล้านบาท ส่วนจะกระจายไปเอสเอฟไอใดบ้าง ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของแต่ละแบรนด์เป็นหลัก


ในอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าการลดการความคุ้มครองเงินฝากจะไม่ได้ทำให้ผู้ออมเงินส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ แต่ก็เชื่อว่าด้วยความเสี่ยงของการฝากเงินที่เพิ่มขึ้นมา ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ออมเงินบางส่วน มีการศึกษาและสรรหาทางเลือกในการลงทุนใหม่มากขึ้น เช่น ตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเงินฝาก อย่างกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตดี ตลอดจนกองทุนรวมประเภทค้ำประกันเงินต้น และพันธบัตรรัฐบาล/รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น


หรือผู้ฝากเงินที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ก็อาจขยายขอบเขตการลงทุนไปยังทางเลือกอื่นๆ อาทิ กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้น หรือการลงทุนในหุ้น ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสรับผลตอบแทนสูง


ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะตราสารทางการเงิน ประเภทใหม่เข้ามาตีตลาด   เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งจะทำให้ระบบสถาบันการเงินและระบบการเงินของไทย มีเสถียร ภาพ และเดินไปได้เองภายใต้กลไกตลาด แทนที่จะโยนภาระการชดเชยความเสียหายไปให้กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเหมือนในอดีต ซึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้นเงินภาษีและการแบกรับภาระหนี้ภาครัฐ ที่ประชาชนต้องช่วยกันแบกรับอยู่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง