รีเซต

นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามภัยแล้งอ.พิมาย หลังประสบปัญหาน้ำท่วม - ภัยแล้งทุกปี

นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามภัยแล้งอ.พิมาย หลังประสบปัญหาน้ำท่วม - ภัยแล้งทุกปี
TNN ช่อง16
24 มีนาคม 2567 ( 15:51 )
30

วันนี้ ( 24 มี.ค. 67 )นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ หลังจากลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม สถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา 2572 หรือ Korat Expo 2572  ที่ บริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์บ้านโคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมาแล้ว ได้เดินทางต่อไปที่ โครงการชลประทานทุ่งสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน, นายศิวะเสก สินโทรัมย์ นายอำเภอพิมาย, นายกิตติธัช เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8, นายกิตติกุล  เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา, นายปิยภัทร สายเมฆ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์, นายสมเกียรติ  ตันดิลกตระกูล  กับนายนิกร โสมกลาง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทยตลอดจน ตัวแทนจาก ภาคส่วนต่างๆ ผู้นำชุมชน กลุ่มมวลชน และประชาชนชาวอำเภอพิมาย รวมกว่า 800 คน ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น 


นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้บรรยายสรุปลักษณะทางกายภาพและศักยภาพการกักเก็บน้ำของเขื่อนพิมายในปัจจุบันให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ซึ่งเขื่อนพิมาย สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2496 และปรับปรุงบานระบายใหม่ ในปี พ.ศ.2546 มีช่องบานระบายน้ำ จำนวน 6 บาน มีลักษณะเป็นเขื่อนทดน้ำและระบายน้ำภายใต้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ ที่สร้างปิดกั้นลำน้ำมูล เก็บชะลอน้ำไว้ส่งจ่ายไปช่วยเหลือเกษตรกร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 180,000 ไร่ โดยเป็นพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน จำนวน 164,635 ไร่ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ 10 ตำบล ของจังหวัดนครราชสีมา คือ ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง  ตำบลสัมฤทธิ์ ตำบลกระเบื้องใหญ่  ตำบลในเมือง ตำบลท่าหลวง ตำบลชีวาน ตำบลดงใหญ่ ตำบลกระชอน อำเภอพิมาย  และตำบลประสุข กับตำบลหนองหลัก ในอำเภอชุมพวง นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในเขตเทศบาลอำเภอพิมาย และอำเภอโนนแดงจังหวัดนครราชสีมาด้วย 


แต่เนื่องจากมีการขยายตัวของชุมชนเมือง มีการก่อสร้างกีดขวางทางไหลระบายของน้ำ ท่อระบายน้ำต่างๆ มักจะอุดตันไปด้วยขยะ และบางจุดของลำน้ำธรรมชาติจะตื้นเขินด้วยตะกอนดินหรือวัชพืช ในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่มีมวลน้ำไหลลงสู่ลำน้ำมูลจำนวนมาก ทางเขื่อนพิมายจึงต้องเร่งปล่อยระบายน้ำออก  เพื่อไม่ให้มวลน้ำล้นเอ่อท่วมเขตเศรษฐกิจของอำเภอ ในขณะเดียวกันช่วงหน้าแล้ง ระดับน้ำในลำน้ำมูลเหนือเขื่อนพิมาย จะลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการสูบดึงน้ำไปเก็บสำรองไว้ผลิตประปาและมีการลอบทำนาปรัง จึงทำให้พื้นที่ท้ายน้ำมักประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำเกือบทุกปี  


ดังนั้นทางชลประทานจึงเตรียมเสนอโครงการปรับปรุงเขื่อนพิมายใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งขาดแคลนน้ำให้กับประชาชน ในพื้นที่ดูแล ซึ่งหลังจากฟังบรรยายสรุป ได้เดินดูสภาพเขื่อนพิมายในปัจจุบัน และได้เห็นสภาพน้ำด้านท้ายเขื่อนลดระดับลงอย่างมาก หลายจุดแห้งขอดเห็นสันดอนดิน สะท้อนให้เห็นถึงภัยแล้งที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นในตอนนี้ นายกรัฐมนตรีจึงเห็นด้วยที่ควรจะมีการปรับปรุงเขื่อนพิมายเสียใหม่ เพราะมีอายุการใช้งานมานานกว่า 70 ปีแล้ว โดยให้ชลประทานนำเสนอโครงการฯ และแนวทางแก้ไขปัญหาในภาพรวมเสนอให้ทราบตามลำดับต่อไป   


จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้พบปะพูดคุยและถ่ายภาพร่วมกับชาวบ้านและกลุ่มมวลชนที่มารอต้อนรับกันอย่างใกล้ชิด ก่อนเดินทางไปประชุมหารือการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ที่สำนักงานเทศบาลเมืองเมืองปัก ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา.


ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา 

ภาพจากผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง