รีเซต

กางปฏิทิน! เลือกตั้งท้องถิ่น ประเดิมเข้าคูหาเลือกอบจ. สนามแรก

กางปฏิทิน! เลือกตั้งท้องถิ่น ประเดิมเข้าคูหาเลือกอบจ. สนามแรก
TNN ช่อง16
7 ตุลาคม 2563 ( 17:18 )
2.1K
กางปฏิทิน! เลือกตั้งท้องถิ่น ประเดิมเข้าคูหาเลือกอบจ. สนามแรก
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ภายในปีนี้ประเทศไทย จะมี การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ว่างเว้นมายาวนานกว่า 6 ปีเต็ม นับจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา 

สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นมีทั้งหมด 5 ประเภท คือ

เลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

เทศบาล

องค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ (เมืองพัทยา)

กรุงเทพมหานคร (กทม.)

ทั้งนี้ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะเกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในราวเดือนธันวาคม 2563



สำหรับจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2563 ประกอบด้วย 

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง 380 คน  

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,303 แห่ง 15,909 คน 

เทศบาล 2,469 แห่ง 7,407 คน  

องค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ (เมืองพัทยา) 1 แห่ง 3 คน

กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง 5 คน

ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งแล้วโดยกระทรวงมหาดไทยได้เตรียมข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไว้ทั้งหมดแล้วรวมไปถึงให้มีการแยกเขตการเลือกตั้งรวมหมู่บ้านที่มีจำนวนประชากรไม่เกิน 25 คนไว้รวมกัน และมีการจัดเตรียมงบประมาณ 2564 ไว้สำหรับการเลือกตั้ง

ฝากฝั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการเตรียมระเบียบและแบ่งเขตการเลือกตั้งครบทุกหน่วยและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษารวมไปถึงอบรมผู้อำนวยการเลือกตั้งในระดับจังหวัดและอำเภอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ไทม์ไลน์ในการเลือกตั้งท้องถิ่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการเปิดเผย โดยการกำหนดวันเลือกตั้งที่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกกต. จะเห็นว่าวันใดเหมาะสมเบื้องต้นมีการกำหนดระหว่าง 13 ธ.ค. หรือ 20 ธ.ค. แต่ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นวันที่ 20 ธ.ค. เนื่องจากวันที่ 13 ธ.ค. เป็นตรงกับช่วงวันหยุดยาวที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจจะมีความชัดเจนขึ้น ภายหลังการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ 

แม้ว่าจะเพิ่งมีการเคาะการเลือกตั้งลำดับแรกออกมา แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการเลือกตั้งท้องถิ่นในลำดับถัดไป โดยมีกระแสข่าวเรื่องการล็อกให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นการเลือกตั้งลำดับสุดท้ายโดยคาดว่าจะจัดในปลายปี 2564 



อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า ไม่เป็นความจริงไม่มีการพูดเช่นนั้นว่าจะเอาการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ไว้เป็นลำดับหลังสุด ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ขอมาว่า หากจะเลือกตั้งประเภทไหนขอให้เว้นช่วงเวลาประมาณ 60 วัน เป็นอย่างน้อยแล้วค่อยเลือกตั้งประเภทใหม่ 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญที่หลายๆ คนต่างจับตามอง ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองต้องทำการบ้านรวมทั้งติวเข้มในการคัดเลือกบุคคลที่มีความพร้อมและความสามารถเข้ามาบริหารงานบ้านเมือง แม้ว่าจะมีหลายๆ ท่าน ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกตัวอย่างชัดเจนในการลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ไปแล้วก็ตาม  

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตามอง นั่นคือ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และมีการทำประชามติ จะส่งผลกระทบให้การเลือกตั้งท้องถิ่น จะต้องเลื่อนออกไปหรือต้องสะดุดลงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องคอยติดตามกันต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง