จับตาก้าวย่าง “ทักษิณ” พลิกเกมทวงแชมป์เลือกตั้งครั้งหน้า
การปรากฎตัวที่พรรคเพื่อไทย ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 มี.ค.2567 แม้จะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่ก็ทำให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง ท่ามกลางการจับตาว่า เป็นการเปิดเกมรบเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า และเป็นการส่งสัญญาณ ว่า นับจากนี้ต่อไป ก้าวย่างต่อไปของพรรคเพื่อไทยจะไม่เหมือนเดิม โดยมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ความเคลื่อนไหวของ อดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นการกระชับเกมอำนาจทางการเมือง เพื่อเตรียมการเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งแน่นอนว่า พรรคเพื่อไทย ต้องการทวงแชมป์ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 จากคู่แข่งอย่างพรรคก้าวไกล
จังหวะการก้าวย่างของพลพรรคเพื่อไทย ยิ่งมีความชัดเจนขึ้น ในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ซึ่งไฮไลท์อยู่ที่การเปิดวีดิทัศน์การให้สัมภาษณ์ของ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร น.ส.แพทองธาร และ นายเศรษฐา ให้สมาชิกพรรคได้รับฟังพร้อมกัน ซึ่งในช่วงหนึ่ง อดีตนายกฯ ทักษิณ ย้ำชัดว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็น “พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่” ตามที่ถูกกล่าวหา เพราะงพรรคเพื่อไทย ถูกสร้างมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคที่รีฟอร์ม หรือเป็นพรรคผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่า นายเศรษฐา จะสามารถนำพาประเทศได้ เพราะเป็นนักบริหาร ที่มีประสบการณ์มาก อีกทั้งการมีเครือข่ายที่ส่งเสริมช่วยเหลือสนับสนุนกันเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นจึงเป็นการวางตัวที่เหมาะสม ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการเมืองที่มีหลายพรรค
ขณะเดียวกัน อดีตนายกฯ ทักษิณ ยังพูดถึง ลูกสาวคนเล็ก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แม่ทัพใหญ่พรรคเพื่อไทย โดยมั่นใจว่า “อุ๊งอิ๊งค์” มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสามารถนำทีมเพื่อไทยพลิกเกมได้ไม่ยาก เพราะ “อุ๊งอิ๊งค์” มีส่วนผสมระหว่าง DNA ของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นมารดา กับตนเอง ซึ่งเป็นการผสมผสานส่วนที่เข้มแข็ง อดทน เด็ดขาด มาจากคุณหญิงพจมาน และ ส่วนที่พบปะผู้คน เข้าใจการเมืองมาจากตนเอง จึงเชื่อว่า อุ๊งอิ๊งค์จะเป็นผู้นำที่ดีได้ และจะทำได้ดีกว่าผู้เป็นบิดา
การกลับเข้าสู่การเมือง ของอดีตนายกฯ ผู้ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถูกมองว่า เป็นการกลับมาทวงพื้นที่ความนิยมทางการเมืองให้พรรคเพื่อไทย หลังจากที่ ฉากทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนไป หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ซึ่งพรรคก้าวไกล สามารถฝ่าด่านชนะเลือกตั้ง ได้ที่นั่ง สส.มากเป็นอันดับ 1 แต่ความท้าทายของพรรคเพื่อไทย คือการประเมินความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ต้องการเห็นการเมืองแบบใหม่ เน้นความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยเองก็ถูกกล่าวหาว่า กลายเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่ในทางกลับกัน การเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ ทักษิณ อาจกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก หรือกลายเป็นเป้าให้ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี
การขยับตัวทางการเมืองของ อดีตนายกฯ ทักษิณ แน่นอนว่า สร้างความฮึกเหิมให้กับ สส.และสมาชิกพรรค เพราะ อดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นศูนย์รวมทุกอย่างของพรรคเพื่อไทย แต่การกลับมาของอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน ...สุดท้าย การรีแบรนด์พรรคเพื่อไทย จะมีหน้าตาออกมาอย่างไร สิ่งสำคัญคือ จะสามารถกระชากเรตติ้งจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่...?
เรียบเรียงโดย... ปุลญดา บัวคณิศร