รีเซต

เผยมาตรการผ่อนปรนเฟส2 ลุ้นกิจการใดได้เปิดเพิ่ม แจงการเก็บข้อมูล

เผยมาตรการผ่อนปรนเฟส2 ลุ้นกิจการใดได้เปิดเพิ่ม แจงการเก็บข้อมูล
ข่าวสด
11 พฤษภาคม 2563 ( 13:19 )
188
เผยมาตรการผ่อนปรนเฟส2 ลุ้นกิจการใดได้เปิดเพิ่ม แจงการเก็บข้อมูล

 

ศบค. เปิดร่างผ่อนปรนระยะ 2 ลุ้นกิจการใดอาจจะได้เปิดเพิ่ม เผย โรงหนัง-ฟิตเนส-สนามพระ รอต่อไปก่อน แจงยังไม่นิ่ง ต้องรอประชุมชุดใหญ่ 15 พ.ค.นี้

วันที่ 11 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลการผ่อนปรนกิจการในระยะที่ 2 ว่ากิจการใดจะเปิดวันใด ว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่เป็นข้อสรุปชัดเจนสุดท้าย ซึ่งต้องรอวันที่ 15 พ.ค.นี้ที่จะมีการประชุม ศบค. อย่างไรก็ตาม จะประกาศแบบไม่เป็นทางการไปก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการไปเตรียมตัว แต่ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ส่วนกิจการใดบ้างนั้น เดิมประกาศไว้ 3 กลุ่ม คือ 1.ด้านเศรษฐกิจและดำเนินชีวิตประจำวัน ระยะที่ 2 เช่น ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร และร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม ในอาคารสำนักงาน

 

ข.ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า คอมมูนิวตีมอลล์ ยกเว้นโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส โบว์ลิ่ง สวนสนุก สวนน้ำ ศูนย์ประชุม และศูนย์พระเครื่องสนามพระ ค.ร้านค้าปลีก ค้าส่งอื่น ๆ ง.ร้านเสริมสวย ย้อมผม ดัดผม หรือกิจการอื่น ๆ ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงและร้านทำเล็บ

 

2.ด้านออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ เช่น ก.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม คุมน้ำหนัก ข.สนามกีฬา เฉพาะกีฬากลางแจ้ง ตามกติกาสากล เล่นเป็นทีมไม่มีผู้ชม ค.สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์แกลอรี ห้องสมุดสาธารณะ (เข้าเป็นรายคน) ง.สถานประกอบการนวดแผนไทย (เฉพาะนวดเท้า)

 

3.กลุ่มอื่น ๆ คือ การประชุม ณ สถานที่ภายในหรือภายนอกองค์กร ลักษณะการบรรยายร่วมกับวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (จำกัดจำนวนคนตามพื้นที่) ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป จำนวนไม่เกิน 5 คน

 

"เน้นย้ำว่า ตรงนี้เป็นร่างที่ต้องมีการประชุมหลายครั้ง และหลายร่างจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ เพราะมีการประชุมหลายฝ่าย ทั้งสาธารณสุข ฝ่ายมั่นคง ผู้ประกอบการ สภาพัฒน์ มีบางรายการเข้าใหม่ เข้าแล้วออกหรือเข้าใหม่อีก คือ ยังไม่นิ่ง แต่ผมสื่อไว้ก่อนว่ามีภาพคร่าวๆ ประมาณนี้ จะดึงความเสี่ยงที่ต่ำก่อนเข้ามา แต่เจ้าของกิจการควรมีเวลาไปทำพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้ามารับบริการแล้วไม่ติดโรค และท่านเองก็ปลอดโรคจากลูกค้าด้วย" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเปิดห้างอาจต้องมีการจัดเก็บข้อมูล เรื่องแอพพลิเคชันติดตามตัวชัดเจนแล้วหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หลายคนบอกว่าแอพพลิเคชันติดตามตัวไม่เอาดีกว่า โทนอย่างนี้ก็อยากเรียนว่าไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น หลายร้านที่เราเข้าไปก็ขอชื่อนามสกุลจดเบอร์โทรไปก็คล้าย ๆ อย่างนั้น ตามภาษาโซเชียลมีเดียก็คือเช็กอิน ไปตรงนั้นตรงนี้ก็เช็กอินเข้าไป แอพฯก็จะทำหน้าที่อย่างนั้น

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า อยากให้ลองคิดกรณีที่เกิดขึ้น อย่างที่เกาหลีใต้ มีการเข้าไปสถานที่บันเทิงและมีคน 1,570 คนต้องไปตาม ระบบของเขาใช้ไอทีตามคนได้ เราก็ต้องมีระบบประมาณนี้ เพื่อติดตามมารักษา ถ้าเช็กอินเข้าไปแล้วจะได้สบายใจด้วย ว่าร้านที่เข้าก็ให้เรตติงได้ ใช้บริการแล้วเป็นอย่างไร ทำได้ดีก็ให้เรตสูง ไม่ดีก็บอกคนอื่น

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า เราเคยช้อปออนไลน์ไหมก็เป็นอย่างนั้น ร้านนี้ส่งของคุณภาพก็ให้ 5 ดาว เช่นเดียวกันแอพฯเหล่านี้ก็จะบอกด้วย หรือจะเดินเข้าไป 3-4 ร้านก็ต้องเลือกร้านเรตติงสูง ๆ คือสิ่งที่จะได้ด้วย นี่คือสิ่งที่ภาครัฐพยายามจะคิดตรงนี้ เพื่อตอบแทนสังคมให้ได้ว่าจะมีสังคมที่ปลอดภัยปลอดโรคอย่างไร ให้คุณภาพการบริการที่ดีด้วย

 

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง