รีเซต

นนทบุรี ส่อวุ่น! ประธานสภา อบต. ค้านตั้ง รพ.สนาม บอกให้ใช้บ้านนายก อบต.แทน

นนทบุรี ส่อวุ่น! ประธานสภา อบต. ค้านตั้ง รพ.สนาม บอกให้ใช้บ้านนายก อบต.แทน
ข่าวสด
7 มกราคม 2564 ( 21:08 )
292
นนทบุรี ส่อวุ่น! ประธานสภา อบต. ค้านตั้ง รพ.สนาม บอกให้ใช้บ้านนายก อบต.แทน

นนทบุรี วุ่น ประธานสภา อบต.ไทรใหญ่ ค้านตั้ง รพ.สนาม บอกให้ใช้บ้านนายก อบต.แทน ด้านสาธารณสุขยันมีระบบป้องกัน-ควบคุมการแพร่เชื้อได้

 

 

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 7 ม.ค. 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ทำการ อบต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี นายฉลวย ขันจำนงค์ นายก อบต.ไทรใหญ่ พร้อมด้วยนางธนสรณ์ ศรีใช้ประวัติ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี และทีมสาธารณสุขอำเภอไทรน้อย คณะผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอสม. ร่วมประชุมหารือแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อสื่อสารและชี้แจงทำความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่

 

 

หลังนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี มีคำสั่งมาตรการเชิงรุกให้จัดตั้งทีมสำรวจกว่า 70 ทีมลงพื้นที่คัดกรองทุกโรงงาน ทุกตลาดสด และวินรถรับจ้างสาธารณะทั่วจังหวัด ซึ่งคาดว่าน่าจะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น จึงวางแผนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อไว้ล่วงหน้า

 

สำหรับพื้นที่ที่จะใช้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของจังหวัดนนทบุรี เป็นอาคารกีฬาเอนกประสงค์ประจำตำบลไทรใหญ่ ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใหญ่พอสำหรับจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจำนวน 200 เตียง เป็นอาคารชั้นเดียว ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างที่ทำการ อบต.ไทรใหญ่ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลไทรใหญ่ มีประตูเข้าออก 2 ทางคือด้านหน้าและหลัง มีรั้วโดยรอบ

 

 

จากการประชุมในวันนี้ใช้เวลาเกือบ 3 ชม.ในการให้ผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมประชุมซักถามปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปชี้แจงให้ประชาชนทราบข้อมูลว่าจะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่อาคารกีฬาเอนกประสงค์ของ อบต.ไทรใหญ่ ในพื้นที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี

 

นายสำอางค์ ทองพยงค์ ประธานสภา อบต.ไทรใหญ่ แสดงความเห็นคัดค้านในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ว่า ชาวบ้านไม่ยินยอมให้ใช้สถานที่แห่งนี้ เพราะระแวงและกลัวว่าเชื้อไวรัสจะมาแพร่กระจายในชุมชน ทำไมต้องผลักดันผู้ติดเชื้อจากพื้นที่อื่นให้ออกมาในพื้นที่ ต.ไทรใหญ่ เหตุเกิดที่จุดไหน ทำไมไม่ไปใช้พื้นที่นั้นทำการตรวจคัดกรองและกักกันโรคที่นั่นไปเลย ทำไมต้องให้คนติดเชื้อกระจายตัวออกมาในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เขาไม่ยินยอม ขนาดจังหวัดอื่นๆ ส.ส.ในพื้นที่ยังนำประท้วงคัดค้านไม่ยอม อยากให้พิจารณาเลือกสถานที่อื่นแทนได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่ได้ก็เอาบ้านนายก อบต.ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ทำโรงพยาบาลสนามแทน

 

นายก อบต.ไทรใหญ่ พาลงพื้นที่ใช้ตั้ง รพ.สนาม

 

 

ด้าน นางธนสรณ์ ศรีใช้ประวัติ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า การที่เลือก อบต.ไทรใหญ่ เป็นพื้นที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เนื่องจาก จ.นนทบุรี มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนตอนนี้มีจำนวน 132 ราย จึงต้องเตรียมโรงพยาบาลไว้รองรับ ซึ่งปัจจุบันเรามีโรงพยาบาลรองรับอยู่ 180 เตียง โดยใช้โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 เป็นโรงพยาบาลสนามได้ 100 เตียงแล้ว

 

หลังจากนี้เรายังคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นไม่ได้ เนื่องจากผู้นำชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ได้ลงพื้นที่ค้นหาแรงงานต่างด้าวใน จ.นนทบุรี ทั้งในส่วนโรงงานต่างๆ ในตลาด ซึ่งมีการวางมาตรการเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และควบคุมให้เร็วที่สุดและหยุดการป่วยให้กับคนจงหวัดนนทบุรี

 

นางธนสรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เลือกที่นี่เพราะเป็นอาคารใหญ่ สถานที่ปิด มีรั้วรอบ บุคลากรทางการแพทย์สามารถอยู่ได้และดูแลผู้ป่วยได้ทั่วถึง ดูจากสภาพแวดล้อมคิดว่าเหมาะสม จึงต้องให้ทางท่านนายกและผู้นำชุมชนทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้เข้าใจว่า การจัดตั้ง รพ.สนาม สามารถป้องกันและมีระบบในการควบคุมการแพร่เชื้อได้ ซึ่งสถานที่นี้สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ เนื่องจากแพทย์พยาบาลมีจำนวนจำกัด อัตรากำลังเราไม่เพียงพอ

 

นางธนสรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกำหนดการเปิดโรงพยาบาลสนาม จะดำเนินการหลังจากที่ชุมชนมีมติอนุญาตให้จัดตั้งได้ ทางจังหวัดต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องหมายเครื่องมือให้พร้อม โดยนำเรื่องเสนอจังหวัดให้อนุมัติในการจัดซื้อ คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากทางพื้นที่อนุญาตให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม

 

นายฉลวย ขันจำนงค์ นายก อบต.ไทรใหญ่ ชี้แจงตั้ง รพ.สนาม

 

ขณะที่นายฉลวย ขันจำนงค์ นายก อบต.ไทรใหญ่ กล่าวว่า หลังจากประชุมวันนี้ การทำโรงพยาบาลสนาม ตนคิดว่าความเหมาะสมเป็นไปได้มากที่สุด วันนี้ได้ให้ผู้นำชุมชนกลับไปทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้ง คิดว่าประชาชนจะเข้าใจมากขึ้นว่า หลังจัดตั้งโรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลนี้สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ จากข่าวที่การเปิดโรงพยาบาลสนามในจังหวัดอื่นๆ มีปัญหา ตนคิดว่าใน จ.นนทบุรี ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าเราทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจถึงสถานการณ์ว่าโรงพยาบาลสนามของจังหวัดนนทบุรี มีความสำคัญและไม่มีปัญหาในการจัดตั้งและมีระบบดูแลผู้ป่วยอย่างเข้มงวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง