สธ.จ่อปลด "โควิด19" ออกจากโรคฉุกเฉิน ให้รักษาได้ตามสิทธิ คาดเริ่ม 1 มี.ค.นี้
วันนี้ (10 ก.พ.65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าในวันพรุ่งนี้ (11 ก.พ.65) รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ อย่างพร้อมเพรียง
โดยกระทรวงสาธารณสุขมีเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมหลายเรื่อง อาทิ ยกเลิกการให้บริการวิกฤตฉุกเฉินกรณีโรค โควิด-19 หรือ ยูเซป (UCEP COVID-19) โดยให้ใช้แนวทางการรักษาตามสิทธิประโยชน์ของประชาชน ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ รวมถึง กำหนดค่าตรวจหาเชื้อที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจ่ายชดเชยให้สถานพยาบาล
ทั้งนี้ หากใช้วิธี RT-PCR จะอยู่ที่ 900 บาท และ 1,100 บาท ขึ้นกับวิธีการตรวจ ส่วน ATK อยู่ที่ 250 และ 350 บาท ขึ้นกับประเภทชุดตรวจที่ใช้ จะปรับอัตรากรณีการรักษาในฮอสพิเทลอยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน เท่ากับกรณีการแยกกักตัวเองที่บ้าน (Home Isolation)
คาดจะมีผลในวันที่ 1 มี.ค.65 ยืนยันการปรับดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด โดยใช้สิทธิการรักษาได้ตามสิทธิที่มี เหมือนการรักษาปกติ ยกเว้นการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเอง
ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูภาพรวม โดยผู้เสียชีวิตมีจำนวนเท่าเดิม ผู้ป่วยอาการรุนแรงก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น หากนับเป็นอัตราส่วน ถือว่าลดลง แต่การติดเชื้อพบมีการติดเชื้อในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ทั้งเด็กที่ไปโรงเรียน และผู้ปกครองที่ไปทำงานกลับบ้าน แล้วมากินข้าวร่วมกัน
ดังนั้น จะมีการหารือถึงมาตรการต่างๆ หลังมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นจากเมื่อช่วงปลายปี 2564 ถึง 5 เท่า แม้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและป่วยหนักจะมีอัตราส่วนที่ลดลงก็ตาม
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมมาตรการต่างๆรองรับไว้แล้ว
ขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่ากังวลเพราะผู้ป่วยหนักมีจำนวนลดลง เตียงในโรงพยาบาลยังว่างกว่าร้อยละ 70 และยังคงเป้าหมายให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้ ดังนั้นในอนาคตจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน
ขณะที่ วันนี้มีข่าวดีทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้มีมติยอมรับและขึ้นทะเบียนเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ของประเทศไทย ให้มีความเท่าเทียมกับเอกสารรับรองของสหภาพยุโรป ( EU Digital COVID Certificate ) หรือ EU DCC
ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนสามารถใช้เอกสารรับรองบน Thailand Digital Health Pass ของหมอพร้อม แสดงสถานะสุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 ก่อนเดินทางสู่ประเทศหรือดินแดนที่เข้าร่วมระบบการตรวจสอบเอกสารรับรองของอียูกว่า 60 ประเทศ และดินแดน รวมถึงสามารถใช้แสดงข้อมูลก่อนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศ และดินแดน ได้ด้วย โดยขณะนี้ได้เริ่มทดลองใช้ระบบดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงสามารถยังสามารถติดตามและตรวจสอบสถานะสุขภาพของนักเดินทางจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรปที่ได้รับการขึ้นทะเบียน EU DCC ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ด้วย
โดยเจ้าหน้าที่ของไทย ร้านค้า หน่วยงานต่าง ๆ สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19 ของนักเดินทางได้เช่นกัน เป็นการยกระดับระบบตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ของประเทศไทย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกด้วย
ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ประชุม ศปก.ศบค. หรือศบค.ชุดเล็ก โดยกรมควบคุมโรคได้ประเมินสถานการณ์ ควิด-19 ในปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test and Go
การเปิดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา และอีกหลายเรื่อง โดยผลหารือจะเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พรุ่งนี้ คาดว่าที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ จะพิจารณาแนวทางปฏิบัติ หรือกำหนดมาตรการเข้มข้น ในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ และเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากขณะนี้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงเกินหมื่นคนอย่างต่อเนื่อง.
ภาพจาก TNN ONLINE , กระทรวงสาธารณสุข