รฟม.ยันโครงการสายสีส้มไม่มีค่าโง่! เตรียมแจงทุกประเด็นในศาล 14 ต.ค.นี้ มั่นใจชนะคดีชัวร์
เวันที่ 6 ตุลาคม นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นห่วงในกรณีหาก รฟม.แพ้คดีครั้งนี้ อาจทำให้รัฐบาลต้องเสียค่าโง่แก่เอกชน เพราะต้องชดเชยความเสียหาย ว่า รฟม.ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากตามคำฟ้องและคำร้องของบริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ไม่มีการระบุถึงการเรียกร้องข้อเสียหาย อีกทั้ง รฟม.ปรับเกณฑ์คัดเลือกนี้ ดำเนินการเปิดรับข้อเสนอ ดังนั้นยังไม่มีเอกชนรายใดได้รับความเสียหายที่ต้องจ่ายเป็นเงินชดเชย
นายภคพงศ์กล่าวว่า ส่วนกรณีการปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม.ยืนยันถึงการปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนในครั้งนี้ เป็นสิทธิที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถดำเนินการได้ และเป็นไปตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 อีกทั้งจากการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ดำเนินการก่อนเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และยังไม่ส่งผลเสียหายต่อเอกชนรายใด และไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากได้มีการยืดเวลาให้เอกชนได้เตรียมตัวทำข้อเสนอมากกว่า 70 วัน
“ส่วนในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ศาลปกครองมีคำสั่งนัดไต่สวนนัดแรก โดย รฟม.จะชี้แจงในทุกประเด็นตามคำฟ้อง และมั่นจว่าเราจะชนะในการคดีนี้แน่นอน เพราะเรายังไม่เห็นว่าผู้ฟ้องร้องเสียหายอะไร ส่วนเรื่องการกำหนดข้อสงวนสิทธิในเอกชนยื่นข้อเสนอโครงการ (อาร์เอฟพี) ซึ่งประเด็นนี้ รฟม.มีข้อมูลพร้อมชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามอำนาจของคณะกรรมการตาม มาตรา 36 และดำเนินการอย่างรอบคอบ อีกทั้งภายในคณะกรรมการ มาตรา 36 ยังประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลาย เชื่อถือได้ อาทิ ตัวแทนจากอัยการ และผู้เชี่ยวชาญในระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น อีกทั้งยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย และไม่มีส่วนใดขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)” นายภคพงศ์กล่าว
นายภคพงศ์กล่าวว่า ขณะที่ รฟม.เองก็ยังไม่ได้เกิดความเสียหาย แม้เหตุการณ์นี้จะเป็นเหตุทำให้สาธารณชนเกิดข้อสงสัยกับ รฟม. เป็นผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร แต่ในฐานะที่ รฟม. เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องมุ่งดำเนินโครงการ ไม่ได้เน้นค้าความ จึงขอรอดูคำตัดสินของศาลก่อนว่าจะดำเนินคดีทางแพ่งหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้อง รฟม. มีกำหนดจะเปิดรับข้อเสนอเอกชนในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลาประชุมคณะกรรมการมาตรา 35 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ย่อย พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค อาทิ เทคนิคการก่อสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน มีแผนความปลอดภัยต่ออาคารข้างเคียง แผนก่อสร้างต่อจุดอ่อนไหวอย่างการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ในเมืองที่ผ่านเขตเมืองเก่า รวมไปถึงการสร้างสถานีในพื้นที่อนุรักษ์ จะต้องเชี่ยวชาญอย่างมาก เพราะมีความจำเป็นต้องขุดดินในความลึก 20-30 เมตร
นายภคพงศ์กล่าวว่า ภายหลังจัดทำข้อกำหนดหลักเกณฑ์ย่อยแล้วเสร็จ รฟม.จึงจะเปิดซองข้อเสนอที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ใช้เวลาพิจารณารายละ 1 สัปดาห์ หากมีผู้ยื่นข้อเสนอมากรายก็จะใช้เวลามาก เมื่อประเมินคุณสมบัติ หากเอกชนผู้ผ่านคุณสมบัติจึงจะได้รับสิทธิ์เปิดซองข้อเสนอซอง 2 ด้านเทคนิค และซอง 3 ด้านการเงิน โดย รฟม.จะเปิดทั้งสองซองข้อเสนอพร้อมกันเพื่อพิจารณารวมคะแนนตามเกณฑ์ตัดสิน ด้านเทคนิค 30% และด้านการเงิน 70% ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะประกาศเอกชนผู้ผ่านการพิจารณาซอง 1 ด้านคุณสมบัติ และประกาศผู้ชนะการประมูลภายในต้นปี 2564 โดยหลังจากนี้ทุกการประมูลโครงการของ รฟม.จะใช้เงื่อนไขนี้ทั้งหมด
สำหรับโครงการรถไฟสายสีส้ม ที่เปิดประมูลครั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลจะต้องก่อสร้างงานโยธา ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และได้สิทธิ์ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถตลอดเส้นทางสายสีส้ม (มีนบุรี-บางขุนนนท์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร รวมมูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท โดย รฟม.จะจ่ายเงินอุดหนุนงานโยธา วงเงินราว 9.6 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นมีรูปแบบการจ่ายเงินอุดหนุน หลังเริ่มงานก่อสร้างแล้ว 2 ปี หรือเริ่มจ่ายในปีที่ 3 รวมระยะเวลาจ่าย 7 ปี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสำนักงบประมาณ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ย