รีเซต

ธ.ก.ส.เตรียมงัดโปรดอกถูกดึงเกษตรกรพักหนี้กลับมาผ่อนตามปกติ ไม่หวังลุ้นอีก 1 ปีเดิมพันหนี้เสียพุ่ง

ธ.ก.ส.เตรียมงัดโปรดอกถูกดึงเกษตรกรพักหนี้กลับมาผ่อนตามปกติ ไม่หวังลุ้นอีก 1 ปีเดิมพันหนี้เสียพุ่ง
ข่าวสด
21 กรกฎาคม 2563 ( 14:45 )
91
ธ.ก.ส.เตรียมงัดโปรดอกถูกดึงเกษตรกรพักหนี้กลับมาผ่อนตามปกติ ไม่หวังลุ้นอีก 1 ปีเดิมพันหนี้เสียพุ่ง

 

ธ.ก.ส.เตรียมงัดโปรดอกถูกดึงเกษตรกรพักหนี้กลับมาผ่อนตามปกติ ไม่หวังลุ้นอีก 1 ปีเดิมพันหนี้เสียพุ่ง ส่วนปีนี้ยืนเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 1.01 แสนล้านบาท

ธ.ก.ส.เตรียมงัดโปรดอกถูก - นายภานิต ภัทรสาริน ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อเกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการพักเงินต้นและดอกเบี้ยกว่า 1.2 ล้านล้านบาท และขยายเวลาชำระหนี้ทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท จากจำนวนสินเชื่อทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท แม้จะครบกำหนดมาตรการในต้นปี 2564 แต่ ธ.ก.ส. ต้องมีการบริหารจัดการลูกหนี้กลุ่มนี้ ให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ และแยกลูกหนี้กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเสนอคณะกรรมการธนาคาร พิจารณามาตรการ ดึงลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพ ให้กลับมาผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องพักชำระหนี้ไปถึง 1 ปี ซึ่งอาจจะต้องมีการออกมาตรการจูงใจเป็นพิเศษ เช่น การดูแลในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการลูกหนี้กลุ่มนี้คล่องตัวมากขึ้นกว่าการที่ไปรอออกมาตรการเพิ่มเติมเมื่อครบอายุมาตรการในต้นปีหน้ากรณีที่มีลูกหนี้ไม่สามารถกลับมาชำระตามปกติได้

“ระหว่างนี้ ธ.ก.ส. ได้ให้เจ้าหน้าที่ประเมินความสามารถการผ่อนชำระของเกษตรกรแล้ว หากมาตรการการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยหมดลงในปี 2564 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแผนในการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ออกไปอีก เพราะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเกษตรกรจะมีปัญหาการกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหรือไม่”

ส่วนการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ฉุกเฉิน สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะนี้มีจำนวนผู้ลงทะเบียน จำนวน 2.3 ล้านราย ได้มีการทำสัญญาและอนุมัติจ่ายเงินกู้แล้ว 719,150 ราย คิดเป็นวงเงิน 7,040 ล้านบาท

นายภานิต กล่าวว่า แม้ปีนี้เกษตรกรจะได้รับผลกระทบทั้งจากภัยแล้งและโควิด-19 แต่ ธ.ก.ส. ก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.01 แสนล้านบาท ได้ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีบัญชี (เม.ย.-มิ.ย.2563) ได้ปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 30,000 ล้านบาท ขณะที่หนี้เสียในปัจจุบันอยู่ที่ 4% ที่ถือเป็นระดับปกติ ยังไม่มีสัญญาณอันตรายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้มีความน่าเป็นห่วงมากกว่าปีก่อน แม้ว่าปริมาณน้ำฝนตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะใกล้เคียงกับปีก่อน แต่การตกนั้นกระจุกตัวเพียงช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.เท่านั้น ส่งผลต่อการเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้งเป็นอย่างมาก ก็จะเป็นปัจจัยซ้ำเติมกระทบกับการเพาะปลูกและรายได้เกษตรกรในปีนี้ด้วย

ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงสั่งการให้สาขาลงพื้นที่สำรวจผลกระทบดังกล่าว ก่อนพิจารณาว่าจะต้องออกมาตรการดูแลปัญหาภัยแล้งเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่ง ธ.ก.ส.ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะการเร่งสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรรู้จักการวางแผนเพาะปลูกและเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้ง 12 เดือน ซึ่งเป็นแนวทางดูแลเพิ่มเติมจากการให้สินเชื่อเพาะปลูกและสินเชื่อสร้างรายได้ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง