รีเซต

LINE จัดงาน THAILAND NOW & NEXT: Thriving through The Economic Instability ชวนมองทิศทางเศรษฐกิจไทย

LINE จัดงาน THAILAND NOW & NEXT: Thriving through The Economic Instability ชวนมองทิศทางเศรษฐกิจไทย
TNN ช่อง16
2 ตุลาคม 2567 ( 14:59 )
23

LINE ประเทศไทย จัดงาน THAILAND NOW & NEXT: Thriving through The Economic Instability สัมมนาธุรกิจครั้งใหญ่แห่งปี ชวนธุรกิจใหญ่และแบรนด์แถวหน้าของไทยร่วมเจาะลึกและเข้าใจสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมเปิดอินไซต์การใช้ดาต้าบน LINE เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างกลยุทธ์ใหม่ นำพาธุรกิจเติบโตต่อได้อย่างยั่งยืน


นายรัฐธีร์ ฉัตรดำรงค์ศักดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา GDP ของไทยเติบโตแบบผันผวนจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ถึงแม้ในปี 2024 นี้ คาดว่าจะมีการฟื้นตัวด้วยอัตราการเติบโตประมาณ 2.3% ถึง 2.6% จากแรงสนับสนุนของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น 


หากแต่หนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 90% รวมถึงปัจจัยลบภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก และการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนในภูมิภาคอาเซียน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหลายเหล่านี้ ชี้ว่าประเทศไทยรวมถึงธุรกิจต่างๆ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาค 


LINE ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อธุรกิจของคนไทย จึงได้จัดงาน THAILAND NOW & NEXT: Thriving through The Economic Instability ชวนผู้เชี่ยวชาญร่วมอัปเดตสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมนำเสนออินไซต์การใช้งานดาต้าของธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นกลยุทธ์ใหม่ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดหรือผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที



ในขณะที่ ชินตา ศรีจินตอังกูร Thailand Site Leader บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยตลาด ได้มาร่วมแบ่งปันข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ภายใต้หัวข้อ UNFOLDING CONSUMER INSIGHTS IN A CHALLENGING THAILAND โดยเปิดเผยงานวิจัยของนีลเส็น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนจากการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังไปสู่การใช้จ่ายแบบพิถีพิถันและตั้งใจมากขึ้น โดยเกิดขึ้นจาก 4 ตัวแปรสำคัญ คือ 


(1) สถานะของผู้บริโภค ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะปรับตัวกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดี โดยมีการประเมินการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้เงินนั้นเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า 


(2) ปัจจัยขับเคลื่อนการบริโภค ที่สำคัญคือ สภาวะเงินเฟ้อในไทย ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อสิ่งตอบแทนที่เท่าเดิม โดยสินค้าที่ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญคือ สินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน อย่างสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) อีกทั้ง ผู้บริโภคยังมีความภักดีต่อแบรนด์น้อยลง พร้อมที่จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่มองว่าคุ้มค่ากว่า 


(3) ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ในปี 2024 แม้ว่าผู้บริโภคจำนวนมากจะเริ่มมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น แต่กลุ่มใหญ่ในสังคมไทยมากกว่า 50% ยังระมัดระวังและมีความกังวลในการใช้จ่าย ผู้บริโภคส่วนมากยังให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายที่เน้นความเรียบง่าย การวางแผน และการหลีกเลี่ยงความสิ้นเปลือง (4) นิยาม “ความคุ้มค่า” แบบใหม่ ผู้บริโภคไม่ได้มองแค่เรื่องราคาที่ถูกลง แต่ยังพิจารณาถึงคุณค่าในรูปแบบอื่นๆ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงได้ เช่น เป็นสินค้าใหม่ เป็นสินค้าที่สร้างความยั่งยืน เป็นสินค้าที่มาจากธรรมชาติ เป็นต้น


จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หลายธุรกิจได้ตระหนักและปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง นางสาวศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล ผู้อำนวยการธุรกิจองค์กร LINE ประเทศไทย ได้เผยถึงอินไซต์การใช้งานดาต้าบนแพลตฟอร์ม LINE ของธุรกิจต่างๆ ในไทยที่น่าสนใจตลอดช่วงปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเสริมกลยุทธ์ใหม่โดยใช้ดาต้า เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถสรุปอินไซต์การปรับตัวที่เกิดขึ้นของแบรนด์เป็น 4 กลยุทธ์ด้วยกัน


(1) ใช้ช่องทางโฆษณาแบบผสมผสาน โดยใช้ทั้งช่องทางโฆษณาแบบ Reservation เพื่อเข้าถึงระดับ Mass ควบคู่ไปกับช่องทางโฆษณาบน LINE Ads เพื่อระบุกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง ช่วยให้แบรนด์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณาได้ดีขึ้น 


(2) ใช้กลุ่มเป้าหมายใหม่ในการยิงโฆษณา โดยทดลองเลือกกลุ่มเป้าหมายในเซกเมนต์ใหม่ๆ นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายโดยตรงที่เคยเลือกใช้ เพื่อขยายฐานผู้มีแนวโน้มสนใจสินค้าของแบรนด์ได้กว้างและครอบคลุมขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจยานยนต์ ที่ลองขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ที่สนใจเรื่องแต่งงาน ครอบครัว หรือเสียงเพลง เป็นต้น 


(3) ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูล 1st Party Data โดยใช้เครื่องมือ MyCustomer ทำหน้าที่เป็นถังเก็บ รวบรวม และบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อนำมาจำแนก แบ่งกลุ่มเป้าหมาย ในการสื่อสารและใช้ทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง อาทิ ธุรกิจกลุ่มการเงินและประกัน ที่มีการอัปเดตข้อมูลบัญชี การทำธุรกรรมต่างๆ ของผู้ใช้แต่ละราย หรือนำเสนอบริการอันหลากหลาย ให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคนผ่าน LINE OA อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แบรนด์ไม่มีข้อมูล 1st Party Data เป็นของตนเอง ก็สามารถใช้ Mission Stickers มาเป็นกลยุทธ์เสริมได้ อาทิ กลุ่มธุรกิจ FMCG และของใช้ส่วนตัว ที่ใช้ Mission Stickers ร่วมกับฟีเจอร์ ‘แบบสอบถาม’ ของ MyCustomer ในการเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคได้โดยตรง เป็นต้น 


(4) สร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล ด้วยการเอาดาต้ามาจำแนก แบ่งกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ นำเสนอคอนเทนต์ให้ตรงกลุ่ม ตรงใจ ตรงการใช้งานจริงของแต่ละคน เช่น ธุรกิจยานยนต์ ที่มีการยิงโฆษณาด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกันไปยังกลุ่มลูกค้าตามระดับความสนใจซื้อ ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจการเงิน ที่มีการแสดงผล Rich Menu บน LINE OA แตกต่างกันไปตามระดับสมาชิกของลูกค้าแต่ละคน เป็นต้น



เมื่อแบรนด์มีการใช้งานโซลูชั่นและเครื่องมือดิจิทัลในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากผู้บริโภคและเศรษฐกิจ LINE จึงมุ่งวางแผนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพโซลูชั่นและเครื่องมือเพื่อธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงาน นายวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ LINE ประเทศไทย ได้เผยถึงโร้ดแมปการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องมือ โซลูชั่นต่างๆ บน LINE ภายในปี 2024-2025 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ 


กลุ่มบริการด้านโฆษณา ที่มีการเพิ่มรูปแบบใหม่และเพิ่มตัวเลือกในการระบุกลุ่มเป้าหมายที่ละเอียด ครอบคลุมมากขึ้น โดยล่าสุด ได้เปิดให้แบรนด์สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจในกลุ่มผู้ติดตามบน LINE OA แล้ว! และจะมีการขยายไปสู่กลุ่มผู้ใช้งาน LINE OpenChat ผู้ใช้งานบริการอื่นๆ บน LINE รวมถึง LINE TODAY ในอนาคต กลุ่มโซลูชั่นด้านดาต้า ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการดาต้าได้ดีและสะดวกยิ่งขึ้นบน MyCustomer ผ่านความสามารถใหม่ๆ 


อาทิ การจับคู่ข้อมูลด้านโปรไฟล์ของลูกค้ากับผู้ติดตามใน LINE OA การมีระบบอัตโนมัติมาช่วยดำเนินงานการตลาดให้ การเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบภายนอกได้ และการสร้างกลุ่มเป้าหมายคาดการณ์โดย AI ในขณะที่ MyCustomer | CRM มีแผนเปิดกว้างการเชื่อมต่อกับช่องทางการขายอื่นๆ มากขึ้น รวมไปถึงกับแอปฯ LINE MAN อีกทั้งยังมีการเพิ่มฟังก์ชั่นการสร้างกิจกรรมพิเศษตามกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และสำหรับกลุ่มเครื่องมือเพื่อติดตามผล ที่จะเดินหน้าผลักดันการใช้งาน Conversion API เพื่อช่วยแบรนด์เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามผลพฤติกรรมผู้บริโภคได้แม่นยำ ครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม



ทั้งนี้ LINE ยังคงสานต่อจุดมุ่งหมายในการเป็นแพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย เปิดโอกาสให้ทั้งภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบริการดิจิทัลที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจที่แตกต่างกันไป และนักพัฒนาเข้ามามีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม นอกจากนั้น ยังมุ่งช่วยให้ธุรกิจและแบรนด์เดินหน้าเติบโตต่อได้ในระยะยาวท่ามกลางความไม่แน่นอน ด้วยทิศทางการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อภาคธุรกิจในอนาคต ทั้งสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มบริการ โดยเน้นไปที่ การเปิดกว้างในการเชื่อมต่อกับเครื่องมือใหม่ๆ ภายใต้แพลตฟอร์ม LINE OA Plus การเพิ่มความสะดวกในการช้อปปิ้งผ่าน LINE OA เสมือนมีผู้ช่วยส่วนตัวให้กับผู้ใช้ และการพัฒนาโซลูชั่นในการทำ Chat Commerce บน LINE ให้มีศักยภาพครบถ้วน รอบด้านมากขึ้น และผลิตภัณฑ์กลุ่มเทคโนโลยี เน้นไปที่ MyCustomer API, LINE SHOPPING API และ Mini App ช่วยให้แบรนด์สามารถใช้เทคโนโลยีบน LINE สร้างการเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้นในอนาคต


“เทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ รับรู้ข้อมูล และปรับตัวอย่างทันท่วงที การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้แบรนด์เติบโตและอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง LINE พร้อมที่จะเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัว อยู่รอด และเติบโตอย่างมั่นคง ในยุคที่การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” นายรัฐธีร์ กล่าวสรุป


ที่มาของข้อมูล  LINE for Business




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง