อย่าลืมทบทวนสิทธิ! "ประกันสังคม" ก่อนชวดเงินเยียวยา โหลดแบบฟอร์ม-เช็กขั้นตอนได้ที่นี่
วันนี้( 20 ก.ย.64) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในพื้นที่ 16 จังหวัดสีแดงเข้มควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ว่า ในวันนี้ สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินให้กับผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนใหม่และจ่ายเงินสมทบเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ระหว่างวันที่ 4 – 24 สิงหาคม 2564 จำนวน 1.94 ล้านคน โดยจะได้รับเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท
ทั้งนี้ ขอเน้นให้ผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับสิทธิให้รีบดำเนินการผูกพร้อมเพย์เลขบัญชีธนาคารกับบัตรประชาชน เพื่อธนาคารจะได้โอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน นอกจากนี้ ผู้ประกันตนที่ตกหล่น และอยู่ในพื้นที่ได้รับการเยียวยาแต่ไม่ได้รับเงินเยียวยา สามารถยื่นแบบทบทวนสิทธิ โดยดาวน์โหลดเอกสารแบบคำขอทบทวนสิทธิเยียวยาได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานประกันสังคมที่สะดวกใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ตุลาคมนี้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม
สำหรับวิธีการทบทวนสิทธิสามารถทำได้ดังนี้
1.โทรติดต่อหมายเลข 1506
2.ติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดพื้นที่สีแดงที่ตนเองอยู่
สามารถดาวน์โหลด “แบบคำขอทบทวนสิทธิโครงการเยียวยาผู้ประกันตนได้ที่นี่
-แบบคำขอทบทวนสิทธินายจ้างและผู้ประกันตน ม.33
-แบบคำขอทบทวนสิทธิผู้ประกันตน ม.39-ม.40
ทั้งนี้ ผู้ต้องการทบทวนสิทธิ สามารถปริ้นต์แบบฟอร์มออนไลน์จากนั้นนำไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคม หรือส่งทางไปรษณีย์ สะดวกรวดเร็วไม่ต้องเดินทาง
ขั้นตอนทบทวนสิทธิ
1.เข้าเว็บไซต์ www.sso.go.th เลือก แบบฟอร์มขอทบทวนสิทธิ
2.กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบถ้วน ประกอบไปด้วย ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพย์ พื้นที่ที่อยู่ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และ สำเนาใบเสร็จการจ่ายเงินสมทบ (ถ้ามี)
3.นำเอกสารที่กรอกครบถ้วนแล้วไปยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564
เงื่อนไขก่อนยื่น "ทบทวนสิทธิ"
-ให้ยื่นทบทวนสิทธิได้เฉพาะผู้ที่เข้าข่ายเงื่อนไขการเยียวยาในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดเท่านั้น
-ต้องเช็กสถานะจากเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th แล้วเห็นระบบแสดงข้อความว่า "ไม่ได้รับสิทธิ" เท่านั้น ถึงจะยื่นทบทวนสิทธิได้
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิ
1.เข้าเว็บไซต์ www.sso.go.th เลือก ตรวจสอบสิทธิโครงการเยียวยาฯ (ผู้ประกันตนมาตรา 33) , (ผู้ประกันตนมาตรา 39) หรือ (ผู้ประกันตนมาตรา 40)
2.เลือกตรวจสอบสถานะโครงการเยียวยาผู้ประกันตน
3.กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และกรอกรหัสให้ตรงตามรูปที่กำหนด
4.จากนั้นกดค้นหา
5.ระบบจะแสดงผลการค้นหา พร้อมระบุจะอัปเดตข้อมูลล่าสุด ตามวันเวลาที่กำหนดอีกครั้ง
สำหรับไทม์ไลน์การโอนจ่ายเงินเยียวยารอบที่ 2 มีดังนี้
ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กลุ่ม 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา และกลุ่ม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา จะเริ่มจ่ายเงินดังนี้
มาตรา 39 ที่อยู่ใน 10 จังหวัด และ 3 จังหวัด จำนวน 1.17 ล้านคน รับเงิน 5,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน วันที่ 21 กันยายน
มาตรา 40 ในกลุ่ม 10 จังหวัด และ 3 จังหวัด จำนวน 4 ล้านคน รับเงิน 5,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ วันที่ 22-23 กันยายน
มาตรา 33 ในกลุ่ม 10 จังหวัด และ 3 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ จำนวน 3.5 ล้านคน รับเงิน 2,500 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน วันที่ 27-28 กันยายน
ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในกลุ่ม 10 จังหวัด และ 3 จังหวัด ที่ สปส.ขยายโอกาสให้สมัครเป็นสมาชิกระหว่างวันที่ 4-24 สิงหาคม 2564 เพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท มีผู้สมัคร 3.4 แสนคน ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 2 เดือน จึงจะได้รับเงินเยียวยา รวม 10,000 บาท โดยจะโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ ในวันที่ 28 กันยายน
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ในกลุ่ม 3 จังหวัด และในกลุ่ม 16 จังหวัด นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ที่ สปส.ขยายโอกาสให้สมัครสมาชิก ระหว่างวันที่ 4-24 สิงหาคม มีผู้สมัคร 2.6 ล้านคน กำหนดวันโอนจ่ายเงินเยียวยา 1 เดือน วันที่ 20-21 กันยายน 2564