รีเซต

นักวิทย์จีนเผยกลไกควบคุมความหลากหลาย 'พืชบนเกาะเขตร้อน'

นักวิทย์จีนเผยกลไกควบคุมความหลากหลาย 'พืชบนเกาะเขตร้อน'
Xinhua
4 มกราคม 2567 ( 09:21 )
18
นักวิทย์จีนเผยกลไกควบคุมความหลากหลาย 'พืชบนเกาะเขตร้อน'

(แฟ้มภาพซินหัว : ทิวทัศน์เกาะอู๋จือโจวในเมืองซานย่า มณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีน วันที่ 4 ส.ค. 2018)

ปักกิ่ง, 3 ม.ค. (ซินหัว) -- สวนพฤกษศาสตร์จีนตอนใต้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน รายงานว่าเมื่อไม่นานนี้คณะนักวิจัยของจีนได้เปิดเผยกลไกต่างๆ ที่ควบคุมความหลากหลายของพืชพรรณในหมู่เกาะเขตร้อน

แม้จะมีการวิจัยจำนวนมากมายในสาขาชีวภูมิศาสตร์ของเกาะ (island biogeography) แต่ความเข้าใจของคณะนักวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางชีวภาพบนเกาะทางทะเลส่วนใหญ่ของจีนยังคงมีขีดจำกัด เนื่องจากการศึกษาเกี่ยวกับเกาะมีค่าใช้จ่ายสูงและมีอุปสรรค

คณะนักวิจัยประจำสวนพฤกษศาสตร์ฯ ได้เลือกหมู่เกาะ 2 แห่ง ซึ่งรวมถึงเกาะปะการังเขตร้อน 16 เกาะ และเกาะริมทวีปเขตร้อน 21 เกาะ และทำการวิเคราะห์ข้อมูลความหลากหลายของพันธุ์พืชและองค์ประกอบของดินจำนวน 589 แปลงตัวอย่าง (quadrats)

คณะนักวิจัยพบว่ารูปแบบการกระจายความหลากหลายของพันธุ์พืชในสองหมู่เกาะข้างต้นเป็นไปตามทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์พืชและขนาดพื้นที่ (species-area relationship theory) ตามชีวภูมิศาสตร์ ซึ่งกำหนดว่ายิ่งพื้นที่เกาะมีขนาดใหญ่เท่าใด ความหลากหลายของสายพันธุ์จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่พวกเขายังค้นพบว่ามีกลไกที่แตกต่างกันออกไปในการรักษาความหลากหลายของพืชพรรณในหมู่เกาะทั้งสองแห่งนี้

สำหรับหมู่เกาะปะการัง คณะนักวิจัยพบว่าสารอาหารในดินและระยะห่างในสังคมพืช (plant community) มีบทบาทสำคัญในการกำหนดโครงสร้างสังคมพืชและความหลากหลายของสายพันธุ์พืช ขณะที่ขนาดพื้นที่เกาะเป็นผลทางตรงที่กำหนดความสมบูรณ์ของสายพันธุ์พืชบนเกาะริมทวีป รองลงมาคือผลกระทบจากธาตุอาหารในดิน

อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารแพลนต์ ไดเวอร์ซิตี (Plant Diversity)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง