"ศักดิ์สยาม" เดินหน้าระบบขนส่งภูเก็ต สั่งศึกษาผู้ใช้บริการ-ค่าโดยสาร
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองหลักในภูมิภาค สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ภายหลังจากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้นำเสนอการศึกษาเบื้องต้นของเทคโนโลยีรถไฟฟ้าว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาภาพรวมการ บริหารการจราจรของจังหวัดภูเก็ตทั้งระบบ โดยบูรณาการโครงการทั้งของกรมทางหลวง (ทล.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รฟม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหาข้อสรุปการใช้พื้นที่ถนนของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ก่อนหารือกับจังหวัดภูเก็ต
นอกจากนี้ได้ให้สนข.ร่วมกับกทพ. และ รฟม. ทบทวนปริมาณผู้โดยสารโครงการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทั้งสองโครงการจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการตามที่คาดการณ์ไว้ พร้อม ให้ รฟม. พิจารณาภาพรวมการคำนวณค่าโดยสาร ที่ รฟม. รับฟังความคิดเห็น ในเบื้องต้นไว้แล้ว โดยจะต้องมีอัตราที่ไม่เป็นภาระกับประชาชนตามนโยบายรัฐบาล ขณะเดียวกันต้องจูงใจให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้
สำหรับในขั้นตอนการก่อสร้าง ให้ รฟม. พิจารณาใช้เทคนิคการก่อสร้างที่ใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร เนื่องจากตามแนวเส้นทางของโครงการฯ จะผ่านบริเวณที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่นอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตฯ กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ รฟม. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ ต่อเนื่องจาก สนข. โดย รฟม. แบ่งการดำเนินงานโครงการฯ ออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง มีระยะทาง 41.7 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น – เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กิโลเมตร
ทั้งนี้รฟม. จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ก่อน ที่ผ่านมา รฟม. ได้ดำเนินการจัดงานสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) จำนวนทั้งสิ้น 2 ครั้ง ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งได้ทบทวนผลการศึกษาเดิมของ สนข. และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงรูปแบบโครงการให้เป็นปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 69
รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. มีจำนวน 21 สถานี เป็นสถานียกระดับ 1 สถานี สถานีใต้ดิน 1 สถานี และสถานีระดับดิน 19 สถานี โดยเปรียบเทียบกรอบวงเงินลงทุนของ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (แทรมป์) วงเงินรวม 35,201 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 24,774 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,514 ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2,921 ล้านบาท (3 คัน/ขบวน มี 22 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 1,065 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,428 ล้านบาท
2. รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อยาง (แทรมป์) วงเงินรวม 33,600 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 22,339 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,514 ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 3,955 ล้านบาท (3 คัน/ขบวน มี 22 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 990 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,363 ล้านบาท
3. รถโดยสารประจำทางอัจฉริยะ (ART) วงเงินรวม 17,754 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,447 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 10,861 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,000 ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 1,236 ล้านบาท (มี 44 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 518 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 692 ล้านบาท