รีเซต

น้อมนำพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" สู่ความยั่งยืน

น้อมนำพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" สู่ความยั่งยืน
TNN ช่อง16
2 เมษายน 2566 ( 17:17 )
123

วันนี้ (2 เม.ย.66) เวลา 13.30 น. ณ มณฑาทิพย์ ฮอลล์ ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านผ้าไทย นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรด์ WISHARAWISH นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ASAVA นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE ร่วมแถลงข่าวโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายนิติพัฒน์  ลีลาเลิศแล้ว นายสุรศักดิ์ อักษรกุล นายเจนเจตน์  เจนนาวิน นายศรัณย์ศักด์  ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผศ.รวิเทพ มุสิกปาน อ.กรกลด คำสุข อ.นุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม และสื่อมวลชน ร่วมรับฟัง 



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นบุญของคนไทยทุกคนที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเพียรพยายามมามากกว่า 50 ปี นับเนื่องตั้งแต่ที่บ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนมในปี 2513 ก่อกำเนิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพัฒนาเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ และยิ่งเป็นความโชคดีของพวกเราคนไทยทุกคนที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยการทรงเข้ามาสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงลงมาเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับและส่งเสริมให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของผ้าไทย และพระราชทานโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพราะผ้าไทยนั้นไม่ใช่แค่เครื่องนุ่งห่มที่เรามีไว้เพื่อให้เกิดความสวยงาม แต่ผ้าไทยยังเป็นเครื่องมือในการที่จะพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องในชนบทอีกเป็นล้านครอบครัวให้ได้มีรายได้ที่ดี ซึ่งพระองค์ท่านทรงมุ่งหวังในการที่จะช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ท่านให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยทรงนำองค์ความรู้ทางวิชาการที่ทรงศึกษา ทั้งเรื่องของแฟชั่นสมัยใหม่ ศิลปะ การตลาด มาต่อยอดสิ่งที่สมเด็จย่าของพระองค์ได้ทำไว้ให้กับช่างทอผ้าและคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า "ต่อยอดเป็นสิ่งที่ยาก" แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตรราชกัญญา สิ่งมหัศจรรย์จึงได้เกิดขึ้น มีตัวอย่างความสำเร็จ เช่น แบรนด์ขวัญตาของน้องอ๋อย สุมามาลย์ เต๊จ๊ะ ที่สามารถน้อมนำพระราชดำริ มาทำให้เกิดเป็นผืนผ้าที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ตามแฟชั่นสมัยใหม่สอดคล้องความต้องการของตลาด



"เรื่องที่สำคัญ คือพวกเราทั้งที่เป็นข้าราชการ สื่อมวลชน และคนไทยทุกคน ต้องตระหนักถึงวงจรชีวิตของผ้าไทยที่ในท้ายสุดล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ดังที่พระองค์ท่านทรงเป็นแรงบันดาลใจในการทำให้ "ไทยช่วยไทย" ด้วยการนำเม็ดเงินคนไทยและเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือแม้แต่ลูกค้าชาวต่างชาติ มาอุดหนุนคนไทยที่มีความสามารถในการทำผ้าไทยเทคนิคต่าง ๆ ทั้งผ้าแพรวา ผ้าขิด ผ้ามัดหมี่ ผ้ายกดอก หม้อห้อม ผ้าปัก Eco Print ผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ ผ้ายก ให้กลับมามีความนิยม ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาทั้งสิ้น โดยมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิ คือ คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ที่พระองค์ท่านทรง เชื้อเชิญให้มาเป็นที่ปรึกษา เป็นโค้ชให้กับผู้ประกอบการทอผ้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำให้ผ้าไทยได้รับการต่อยอด ได้รับการพัฒนาจนมีมูลค่าที่สูงขึ้น โดยเอาแบบเก่ามาประยุกต์ ปรับปรุงต่อยอด ย่อขนาด ขยายขนาด  เอาลาย 1 ลาย 2 ลาย 3 มาผสมให้อยู่ในผืนเดียวกัน หรือคิดลายใหม่ เช่น ลายผ้าพระราชทาน "ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี", "ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา" และล่าสุด "ลายดอกรักราชกัญญา" ซึ่งทรงทำเป็นตัวอย่างว่าเราสามารถคิดใหม่ได้ หรืออาจจะคิดลายใหม่หรือคิดลายใหม่ผสมเก่า อันนับเป็นความโชคดีที่เรามีพระองค์ท่านเป็นหลักชัย ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนผ้าไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะเป้าหมายของพระองค์ท่านอยู่ที่คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน เมื่อพี่น้องประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น คุณภาพชีวิตก็ต้องดีขึ้น และครอบครัวเขาก็จะมีความสุข" ปลัด มท. กล่าว



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ยังได้กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่พระองค์ท่านได้พระราชทาน นอกจากการทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว คือ เรื่องความรู้และการคำนึงถึงความยั่งยืนของโลกเรา ดังคำกล่าวที่ว่า No plan B because we have only one planet “เรามีเพียงแผนเดียวเท่านั้นเพื่อโลกใบเดียวนี้ เราต้องช่วยกันรักษาและช่วยกันทำเดี๋ยวนี้" ซึ่งพระองค์ได้ทรงทำให้ผ้าไทยในทุกวันนี้ได้ช่วยรักษาโลกใบนี้ เพราะพระองค์ทรงสอนให้เราใช้สีธรรมชาติ ใช้วัสดุธรรมชาติ ไม่ใช้เส้นไหมจากโรงงาน ไม่ใช้เส้นฝ้ายจากโรงงาน แต่เป็นเส้นไหมเส้นฝ้ายที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเรา ด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ให้สีธรรมชาติ เอาสิ่งรอบตัวจากธรรมชาติมาผสมผสาน ใช้ย้อมสี ซึ่งด้วยพระอัจฉริยภาพดังกล่าว กลายเกิดเป็น Sustainable Fashion หรือ "แฟชั่นแห่งความยั่งยืน" จนล่าสุดองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ได้รับรอง carbon footprint ว่าผ้าไทยเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพราะไหมและฝ้ายที่ทุกคนได้น้อมนำพระดำริมาขับเคลื่อนนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นผืนผ้ารักษ์โลก นอกจากนี้ พระองค์ยังได้พระราชทานพระดำริ "หมู่บ้านยั่งยืน : Sustainable Village" ให้ชาวมหาดไทยทั้ง 878 อำเภอ 7,255 ตำบล ได้น้อมนำมาส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งการสวมใส่ใช้ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน การพึ่งพาตนเอง ปลูกพืชผักสวนครัวที่เป็นผักปลอดภัยปลอดสารพิษไว้รับประทาน ช่วยลดรายจ่าย ทำให้มีเงินในกระเป๋าเหลือมากขึ้น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนและมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน รวมทั้งถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมองค์ความรู้ของชุมชน/หมู่บ้าน เพิ่มมากขึ้น กระทั่งล่าสุดคณะจากองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้เชิญรองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ไปดูงานที่บ้านโก่งธนู อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี และยกย่องสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ว่าทรงเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนที่ก่อให้เกิดการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเกิดขึ้น โดยทรงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนผ้าไทยสู่ความยั่งยืนโดยองค์รวม เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอให้พวกเราได้ช่วยกันน้อมนำพระดำริ ทำให้เกิดการขยายผลไปยังพี่น้องประชาชนช่างทอผ้าและคนไทยทั่วประเทศ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน



นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน  “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”  โดยมีเป้าหมายกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ รวม 5,000 ชิ้น ร่วมโครงการฯ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ดำเนินการพัฒนาผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 4 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร โดยการตัดสินการประกวดระดับภาค และรอบก่อนรองชนะเลิศ กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดพื้นที่ 5 จุดดำเนินการ ในระดับภาค 4 ภาค และรอบก่อนรองชนะเลิศ ได้แก่ 1) ภาคกลาง  ระหว่างวันที่ 18 - 19 สิงหาคม 2566 2) ภาคใต้   ระหว่างวันที่ 25 - 26 สิงหาคม 2566 3) ภาคเหนือ  ระหว่างวันที่ 1 - 2 กันยายน 2566 4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 8 - 10 กันยายน 2566 และ 5) กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 23 - 24 กันยายน 2566 (รอบก่อนรองชนะเลิศ) การตัดสินการประกวดระดับประเทศ รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ในวันที่ 30 กันยายน  2566 และรอบตัดสินระดับประเทศ (Final) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566


นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การประกวดในปีนี้ ผู้ที่จะส่งผ้าเข้าประกวดต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้า หรือช่างงานหัตถกรรมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ส่งผ้าหรืองานหัตถกรรมลายพระราชทานเข้าประกวดให้ส่งตามภูมิลำเนาที่ผลิต และผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้น ไม่รับพิจารณาผ้าที่ทอจากกี่กระตุกหรือระบบอุตสาหกรรม โดยต้องเป็นผ้าที่ตัดจากกี่ ไม่ผ่านการซัก อบ รีด หรืออาบน้ำยาเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น (Authentic) ยกเว้น ผ้าบาติก/ผ้าพิมพ์ลาย/ผ้ามัดย้อม และไม่รับพิจารณาผ้าที่เย็บเป็นถุง/เย็บริมผ้าด้วยจักร และผู้ที่ส่งผ้าและงานหัตถกรรมเข้าประกวด ต้องเป็นไหมพันพื้นบ้าน หรือฝ้ายเข็นมือ และต้องระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างละเอียด ทั้งนี้ ผ้าหรืองานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวดสามารถนำลายโบราณของแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานกับผ้าลายพระราชทาน "ลายดอกรักราชกัญญา" ได้ทุกประเภท โดยการส่งผ้าหรืองานหัตถกรรมเข้าประกวดในรอบระดับภาค ให้บรรจุบห่อได้ตามความเหมาะสม เช่น บรรจุผ้าลงในถุงซิปใสหรือม้วน เป็นต้น พร้อมแนบใบสมัคร ในการรับสมัครระดับจังหวัดให้ผู้สมัครส่งผลงานผ้าหรืองานหัตถกรรมให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด พร้อมกรอกรายละเอียดแนวคิดในการทำบรรจุภัณฑ์ (packaging)  และเรื่องเล่า (storytelling) ในใบสมัคร โดยยังไม่ต้องส่งบรรจุภัณฑ์จริง ทั้งนี้ หากชิ้นงานผ่านเข้ารอบระดับประเทศผู้สมัครต้องส่งบรรจุภัณฑ์จริง (packaging) และเรื่องเล่า (storytelling) มาเพิ่มเติม เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้คะแนนในลำดับต่อไป เป็นต้น ซึ่ง "คนที่ชนะเลิศจะต้องนำเสนอให้เห็นความความกลมกล่อมของผืนผ้า เหนือกว่าสิ่งที่คนอื่นจะคิด เกินกว่าสิ่งที่กติกากำหนด เช่นมีการผสมลวดลายโบราณ มีการละมุนละม่อม" 

.

"เป้าหมายของการประกวดไม่ได้อยู่ที่การเฟ้นหาผู้ชนะเลิศ แต่ต้องการให้ช่างทอผ้า ช่างทำผ้าทุกคนทุกกลุ่ม ใส่ใจในการที่จะพัฒนาฝีมือ อันจะเป็นเครื่องมือเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนช่างทอผ้าทุกคนอย่างยั่งยืน" ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้าย







ข่าวที่เกี่ยวข้อง