รีเซต

ลดความเสี่ยง เลี่ยงตรวจผิด! นักวิจัยพัฒนา AI ช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ลดความเสี่ยง เลี่ยงตรวจผิด! นักวิจัยพัฒนา AI ช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมได้ดีขึ้นกว่าเดิม
TNN ช่อง16
5 พฤศจิกายน 2563 ( 23:17 )
252
ลดความเสี่ยง เลี่ยงตรวจผิด! นักวิจัยพัฒนา AI ช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมได้ดีขึ้นกว่าเดิม

มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่มักจะไม่แสดงอาการเจ็บปวด กว่าจะรู้ว่าเป็นก็ลุกลามจนสายเสียแล้ว แถมในบางครั้งการวินิจฉัยเองก็อาจจะคาดเคลื่อนจนทำให้คิดว่าเป็นปกติ ทั้งที่จริง ๆ มะเร็งอาจจะแอบซ่อนทำร้ายคุณอยู่อย่างเงียบ ๆ ดังนั้นทีมวิจัยในอเมริกาจึงพัฒนาชุดเอไอที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีการทำเมมโมแกรมขึ้น หวังช่วยลดการวินิจฉัยที่ผิดพลาดและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตนั่นเอง

โดยข้อมูลนี้ตีพิมพ์ลงผลการศึกษาชื่อว่า Radiology: Artificial Intelligence เนื้อความว่า Artificial intelligence (AI) กำลังมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของนักรังสีวิทยาในการอ่านค่า “แมมโมแกรม” (Mammogram) เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม ซึ่งปกตินั้นการตรวจแมมโมแกรมจะเป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ คล้ายกับการตรวจเอ็กซเรย์ มีประสิทธิภาพในการตรวจมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้ยังรักษาได้โดยง่าย 


แต่อย่างไรก็ตาม หลายครั้งหลายคราวที่ตัวมะเร็งเองไม่สามารถพบได้ผ่านการทำแมมโมแกรม หรือบางครั้งก็ได้ผลตรวจคลาดเคลื่อน จากผลการศึกษาของนักรังสีวิทยาก่อนหน้า พบว่าโดยค่าเฉลี่ยแล้ว 10% ของผู้หญิง กลับมาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหลังจากทำกระบวนการคัดกรองไปเพราะค้นพบความผิดปกติด้วยตนเองเพิ่มเติม และมักจะนำไปสู่การค้นพบมะเร็งจริง ๆ ในภายหลัง

ระบบอัลกอริทึมของเอไอ จึงเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยพัฒนาความแม่นยำของการตรวจเต้านมแมมโมแกรมแบบดิจิทัลได้ โดยนักพัฒนาจะฝึกเอไอจากรูปภาพที่มีอยู่ให้จดจำลักษณะผิดปกติที่เกี่ยวข้องและสามารถแยกแยะได้ว่าคือมะเร็ง หลังจากนั้นจึงได้นำโปรแกรมไปทดลองกับชุดรูปภาพอีกหลากหลายชุด ผลปรากฎว่า นอกจากเอไอจะสามารถเพิ่มโอกาสตรวจพบมะเร็งให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของนักรังสีวิทยาอีกด้วย


สำหรับการศึกษา นักวิจัยได้ใช้ชุดเมมโมสกรีน (MammoScreen) ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือเอไอที่สามารถประยุกต์ใช้กับการตรวจเต้านม ที่ออกแบบมาให้สามารถระบุพื้นที่น่าสงสัยของมะเร็งเต้านมได้จากภาพสองมิติดิจิทัลแมมโมแกรม และสามารถแยกแยะความคล้ายคลึง และระดับความร้ายแรงได้ ตัวระบบนั้นจะรับข้อมูลเป็นชุดภาพสี่ด้านของแมมโมแกรม และให้ผลตอบกลับเป็นชุดภาพที่ระบุตำแหน่งและคะแนนความน่าสงสัยของพื้นที่เสี่ยงมะเร็งกลับมา

โปรแกรมนี้ได้ผ่านการทดลองจากนักรังสีวิทยาจำนวน 14 คน และผ่านการอ่านรูปภาพสองมิติของการทำแมมโมแกรมกว่า 240 รูปที่ถ่ายตั้งแต่ช่วงปี 2013-2016 ซึ่งจะแสดงรูปแบบความผิดปกติที่แตกต่างกัน โดยทดลองให้นักรังสีวิทยาครึ่งหนึ่งผ่านการอ่านผลโดยไม่ใช้เอไอ และอีกครึ่งใช้เอไอเข้ามาช่วยเหลือในช่วงแรก และไม่ใช้เอไอช่วยเหลือในช่วงที่สอง 


ผลปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของการค้นพบมะเร็งเพิ่มขึ้นเมื่อใช้เอไอเข้าช่วยเหลือ และนอกจากนี้เอไอยังช่วยลดสถิติความผิดพลาดของการวินิจฉัยอีกด้วย และไม่กระทบการทำงานหรือเพิ่มเวลาการทำงานของนักรังสีวิทยาแต่อย่างใด เพราะในกรณีที่โปรแกรมพบความคล้ายคลึงของเนื้อมะเร็ง ก็จะทำให้เวลาในการอ่านค่าลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้นักรังสีวิทยาสามารถเอาเวลาไปเน้นตรวจในจุดอื่น ๆ ที่น่าสงสัยได้มากขึ้น

ในเดือนมีนาคม องค์กรอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้อนุญาตให้สามารถใช้ชุด MammoScreen นี้ในคลินิกได้แล้ว ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของนักรังสีวิทยาได้อีกมาก และนักวิจัยกำลังวางแผนที่จะใช้โอกาสนี้ในการสำรวจพฤติกรรมของเครื่องมือเอไอนี้กับการใช้งานจำนวนกว้างขึ้นและความสามารถในการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มของมัน


ในประเทศไทยเอง "มะเร็งเต้านม" เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในผู้หญิง โดยหญิงไทยมีอัตราการพบมะเร็งประมาณ 40 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 100,000 คน ส่วนในผู้ชายก็พบมะเร็งเต้านมได้เช่นกันแต่ไม่บ่อยนัก หากได้มีการนำเอาชุดตรวจเอไอนี้เข้ามาใช้ในไทยน่าจะทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตได้มากขึ้น แต่ไม่ว่าการพัฒนาชุดโปรแกรมนี้จะได้นำเข้ามาใช้ในไทยเมื่อไหร่ หากมีความรู้สึกสงสัยหรือไม่สบายใจ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ ก่อนที่จะสายเกินไป

ขอบคุณข้อมูลจาก

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ข่าวที่เกี่ยวข้อง