รีเซต

ธเนตร อนันตวงษ์ : ชีวิตใหม่ของจำเลยคดีการเมืองที่ศาลตัดสินยกฟ้องหลังถูกจองจำมาเกือบ 4 ปี

ธเนตร อนันตวงษ์ : ชีวิตใหม่ของจำเลยคดีการเมืองที่ศาลตัดสินยกฟ้องหลังถูกจองจำมาเกือบ 4 ปี
บีบีซี ไทย
10 กรกฎาคม 2563 ( 18:12 )
89
ธเนตร อนันตวงษ์ : ชีวิตใหม่ของจำเลยคดีการเมืองที่ศาลตัดสินยกฟ้องหลังถูกจองจำมาเกือบ 4 ปี

 

ธเนตร อนันตวงษ์ ชายหนุ่มร่างเล็กวัย 30 ปี เชื่อว่าถ้าเขาไม่เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม "คนเสื้อแดง" เมื่อปี 2553 จนต้องติดคุกเกือบ 2 ปี และถ้าไม่ได้ถูกจองจำอีกเกือบ 4 ปีระหว่างพิจารณาคดีที่เขาเป็นจำเลยในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ชีวิตเขาอาจจะเหลวแหลก ก่อความวุ่นวาย อาจติดยาหรือตายไปแล้วก็ได้

 

ดังนั้นธเนตรจึงไม่นึกเสียใจที่เลือกเดินทางนี้ แม้ว่าจะมันจะทำให้ต้องพบกับความเศร้าสุดใจเมื่อพ่อของเขาเสียชีวิตลงไม่นานก่อนที่ศาลอาญาจะพิพากษาว่าเขาไม่มีความผิดและได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.

 

"ไอ้เรื่องการย้อนเวลามันไม่มีหรอกครับ...เราเลือกเส้นทางนี้แล้ว ความสูญเสียมันก็ต้องมีบ้าง แต่ไม่คิดว่าความสูญเสียมันจะมาเร็ว ตอนนั้น (ที่ได้รับการปล่อยตัว) ก็อยากให้พ่อเขาได้มารับ อยากให้เขาเห็นอิสรภาพ น่าจะตัดสินพิพากษาผมเร็ว ๆ หน่อย เพื่อที่พ่อจะได้เจอผม" ธเนตรบอกกับบีบีซีไทยในวันที่ 13 หลังจากได้อิสรภาพ

 

ธเนตรยังบอกอีกว่าเจ้าหน้าที่ "ให้เกียรติมากเกินไป" ที่คิดว่าคนงานก่อสร้าง-รับจ้างทั่วไป จบแค่ชั้น ป.6 อย่างเขาจะสามารถยุยงปลุกปั่นประชาชน เป็นแกนนำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาหรือจัดทำแผนผังทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ได้ ทั้งที่เขาเป็นแค่คนคอยวิ่งซื้อข้าวซื้อของในพวกนักศึกษาเวลาจัดกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น

 

ธเนตรนิยามตัวเองว่าเป็นแค่ "ประชาชนทั่วไปที่ชอบเรียกร้องประชาธิปไตย" และคงไม่มีใครสนใจหรือรู้จักเลยหากไม่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากการร่วมกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการโพสต์และแชร์ข้อความ-ภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาล คสช.และกองทัพทั้งหมด 5 ครั้งระหว่างเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2558

 

ธเนตรรับสารภาพในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.และถูกศาลทหารตัดสินจำคุก 6 เดือน แต่ปฏิเสธข้อหายุยงปลุกปั่นและ พ.ร.บ.คอมฯ เขาถูกคุมขังตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้คดี ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ธเนตรนับได้ทั้งหมด 1,369 วัน ก่อนที่ศาลอาญาจะพิพากษายกฟ้อง

 

ศาลวินิจฉัยว่าธเนตรเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ใช่แกนนำ การโพสต์ข้อความจึงมิน่าจะเป็นการชักชวนให้ประชาชนมาก่อความวุ่นวาย แต่น่าเชื่อว่ากระทำไปในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง และการโพสต์เฟซบุ๊กนั้น แม้จะมีความเห็นต่างกับฝ่ายผู้มีอำนาจในขณะนั้น แต่ก็ได้กระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เชื่อได้ว่ามิได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดเกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต

 

ธเนตรก้มหน้าร้องไห้เมื่อได้ฟังคำพิพากษาและรู้ว่ากำลังจะได้รับอิสรภาพ แม้จะยังต้องรอดูว่าอัยการจะยืนอุทธรณ์หรือไม่ภายใน 30 วัน แต่นี่ก็นับว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นของการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนาน

 

สองสัปดาห์หลังออกจากเรือนจำ ธเนตรเดินทางกลับบ้านเกิดที่ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี เป็นการกลับบ้านครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เขาเล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนคนหนึ่งที่ถูกจองจำเป็นเวลานานเกือบ 4 ปี โดยไม่มีความผิด ความเศร้าที่พ่อตายไปโดยที่เขาซึ่งเป็นลูกคนเดียวรู้เป็นคนสุดท้ายเพราะอยู่ในคุกและไม่มีโอกาสแม้ไปงานศพ และแผนการเริ่มต้นชีวิตใหม่

 

นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของธเนตรที่ผ่านการเรียบเรียงและใส่บริบทเพิ่มเติมบางส่วนเพื่อให้ได้ใจความ

 

ธเนตร

ผมเกิดที่ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี เป็นลูกคนเดียว พ่อตั้งชื่อให้ ธเนตรแปลว่าดวงตา แม่เสียตั้งแต่อยู่ ป.3 พอจบ ป.6 ก็ไม่ได้เรียนต่อเพราะเกเร ออกจากโรงเรียนก็ตามพ่อไปทำงานก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป

 

คนเสื้อแดง

ปี 2553 ทำงานก่อสร้างอยู่กับพ่อที่ จ.ปทุมธานี ติดตามข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ทางวิทยุ ชอบไปชุมนุมเพราะสนุก ได้นั่งฟังแกนนำปราศรัย ได้ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ตอนนั้นคลั่งเสื้อแดงมาก วันที่ 14 มี.ค. 2553 ขอพ่อไปร่วมชุมนุมใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าแล้วก็ถูกจับดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมีวัตถุระเบิดในครอบครอง ติดคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพอยู่เกือบ 2 ปี พอได้รับการปล่อยตัวมาก็จะหยุดแล้ว ตั้งใจจะช่วยพ่อทำมาหากิน

 

รัฐประหารปี 57

พอมีรัฐประหารปี 2557 ก็กลับมาเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนเดิม เพราะอำนาจเผด็จการมันยังมีอยู่ เราต้องการประชาธิปไตยเต็มใบ ต้องการให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม ต้องการนายกรัฐมนตรีและ ส.ส. ที่ประชาชนเลือก ไม่พอใจรัฐประหาร ไม่พอใจกระบวนการยุติธรรม ผมมาร่วมกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ของจ่านิว ผมมีหน้าที่ซื้อข้าวซื้อน้ำ คอยอำนวยความสะดวกให้พวกนักศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทอะไร

 

ประชาธิปไตย

ในความคิดของผม ประชาธิปไตยคือการที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนมีความเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น มีความเสมอภาค ผู้ใหญ่ควรรับฟังปัญหาของประชาชน

 

ผมอยากเห็นประเทศไทยมีเสรี อยากได้ประชาธิปไตยที่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ไม่มีการยึดอำนาจโดยเผด็จการอีกต่อไป

 

อุทยานราชภักดิ์

เดือน ธ.ค.2558 เรานั่งรถไฟไปประจวบฯ จะไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ แต่ถูกตัดโบกี้ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

ผมถูกพาตัวไปปรับทัศนคติที่ จ.นครปฐม หลังจากได้รับการปล่อยตัวคืนนั้นผมก็เข้าโรงพยาบาลเพราะเป็นลำไส้อักเสบ ระหว่างรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลก็มีเจ้าหน้าที่มาคุมตัวไปกองปราบปรามตามหมายจับข้อหายุยงปลุกปั่นและ พ.ร.บ.คอมฯ ผมถูกส่งไปอยู่ที่ มทบ. 11 นาน 7 วัน มีทหารมาซักว่าใครเป็นคนทำแผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ใครอยู่เบื้องหลัง ใครเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งผมก็ไม่รู้ วันหลัง ๆ เขาก็พยายามชวนผมทำงานเป็นสายให้ทหาร ผมบอกว่าทำไม่ได้ พอได้ประกันตัว ผมก็เลยลี้ภัยออกนอกประเทศไปอยู่ที่ลาวเกือบ 2 ปี ถึงกลับมามอบตัวและถูกฟ้องที่ศาลทหาร

 

ศาลทหาร

ผมถูกจำคุกระหว่างการพิจารณาคดีอยู่เกือบ 4 ปี เคยถามศาล (ทหาร) ว่าทำไมคดีผมถึงพิจารณาช้า ตัดสินช้า ศาลตอบผมว่า "บัลลังก์ไม่ว่าง" ก็รู้สึกงง หลังจากมีคำสั่ง คสช.ยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารก็ใช้เวลาอีกนานกว่าคดีผมจะได้ย้ายจากศาลทหารมาศาลพลเรือน

 

คุก

ใครที่เข้าไปก็รู้สึกว่าน่ากลัวแหละครับ แต่อยู่ ๆ ไปก็ปรับตัวได้ พ่อนั่งรถตู้จากอุทัยฯ มาเยี่ยมให้กำลังใจตลอด เราเป็นผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน ทางเรือนจำก็เลยไม่ได้ให้ทำงานหนัก เขาให้เราไปเลี้ยงแมวในเรือนจำ 30-40 ตัว

 

ตอนแรกอยู่แดน 4 สนิทกับผู้ต้องขังคดีการเมืองหลายคน แล้วก็ย้ายไปอยู่แดน 6 เจอพวกพันธมิตรฯ (กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) หลายคนก็คุยกันดีเพราะว่าต่างคนต่างถูกจองจำ

 

ช่วงที่อยู่ในคุกมีกำลังใจดีเพราะพ่อมาให้กำลังใจให้ตลอด แล้วก็มั่นใจในทีมทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เขาว่าความได้ดี

 

พ่อ

ตั้งแต่แม่เสีย ก็ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อตลอด ทำอะไรก็ทำกับพ่อ ตอนติดคุกครั้งแรกพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาคงเข้าใจว่าสิ่งที่ลูกทำไม่ได้ผิดกฎหมาย เป็นสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกว่าต้องการประชาธิปไตย

 

พ่อป่วยเป็นโรคเบาหวานมาหลายปี ได้คุยกับพ่อครั้งสุดท้ายวันที่ขึ้นศาลอาญารัชดาครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค.2562 ปกติพ่อจะมาหาทุกครั้งที่ออกศาล แต่วันนั้นเขาไม่ได้มา ก็ให้พี่คนหนึ่งช่วยโทรศัพท์หาพ่อแล้วตะโกนคุยกันผ่านห้องขัง ถามว่าพ่อสบายดีมั้ย พอทำอะไรอยู่ แล้วตอนนี้พ่ออยู่ไหน พ่อบอกว่าไม่ค่อยสบายก็เลยมาหาหมอที่ รพ. เขาบอกว่าหลังปีใหม่จะมาเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้มา

 

ช่วงต้นปี 2563 เรือนจำงดเยี่ยมตามมาตรการป้องกันโควิด ผมติดต่อใครไม่ได้เลย ก็เริ่มสงสัยว่าพ่อเป็นอะไรหรือเปล่า จนกระทั่งเดือน มี.ค. ได้ข่าวจากทนายอานนท์ (อานนท์ นำภา) ว่าพ่อเสียแล้ว ตอนนั้นตกใจมาก ทำใจไม่ได้ ช็อกอยู่ครึ่งเดือนกว่า ๆ นอนร้องไห้ในคุกไม่ให้ใครเห็น เสียใจที่เขาไม่ได้อยู่รอวันที่ผมได้อิสรภาพ

 

ยกฟ้อง

ก่อนศาลจะมาอ่านคำพิพากษาก็คุยกับทนายว่าศาลจะยกฟ้องหรือเปล่า เกือบ 4 ปีที่ผมสูญเสียอิสรภาพ อยากให้ศาลยกฟ้องเพื่อจะได้เงินเยียวยา เพื่อจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ พอได้ยินว่าศาลตัดสินยกฟ้องก็ดีใจ ภูมิใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำไปไม่ได้มีความผิดอะไรทั้งสิ้น แล้วก็รู้สึกงงกับกฎหมายของไทยว่าแค่คนคิดต่าง แสดงความคิดเห็นทางเฟซบุ๊ก วิจารณ์ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้แล้วต้องถูกจองจำเกือบ 4 ปีเลยเหรอครับ

 

อิสรภาพ

ตอนที่ได้รับการปล่อยตัว ความคิดแรกคืออยากให้พ่อมายืนอยู่ด้วย เพราะตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่เขาไปเยี่ยมไปหา เขาก็คงจะรอวันนี้ล่ะครับ วันที่ผมได้อิสรภาพ ศาลน่าจะพิพากษาผมเร็ว ๆ หน่อย เพื่อที่พ่อจะได้เจอผม

 

อนาคต

วางแผนไว้ว่าจะขายไอติมอย่างที่พ่อเคยทำ ขอบคุณจ่านิวและพี่น้องที่บริจาคเงินมาให้ผมตั้งตัว เงินที่ได้รับบริจาคมาประมาณ 3 หมื่นบาท ผมเอาไปซื้อมอเตอร์ไซค์มือสอง ซื้อเครื่องเสียงและอุปกรณ์ขายไอติมมาครบแล้ว รอติดตั้งรถพ่วงข้างเสร็จก็เริ่มขายได้ จากนักกิจกรรมมาขายไอติม เดินตามรอยพ่อเขาหน่อย พ่อเขาอยากให้เราขาย เราก็ขาย

 

ผมเลือกกลับมาอยู่บ้านที่ จ.อุทัยธานี ก็เพราะคิดว่าถ้ายังอยู่กรุงเทพฯ ก็คงอดไม่ได้ที่จะไปร่วมชุมนุมทางการเมืองอีก ตอนนี้ผมอยากหยุดแล้ว ขอทำมาหากิน ฝากให้นักศึกษา คนที่มีเขามีกำลัง มีความรู้เรียกร้องประชาธิปไตยกันต่อไป

 

ส่วนคดีของผมอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่ ผมไม่ซีเรียสนะ แต่ 4 ปีที่พวกเขาจับผมไป พวกเขาก็ต้องชดใช้กันบ้าง ผมไม่ได้ทำอะไรผิด ผมไม่ได้ไปฆ่าคนตาย ไม่ได้ไปข่มขืนใคร ผมแค่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้น ผมแค่แสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชน และแสดงความคิดเห็นต่างในฐานะวิญญูชน ท่านได้จับผมไป ไปคุมขังจนพ่อผมตาย แล้วถ้าท่านไม่เยียวยา ถ้าท่านไม่ช่วยเหลือบ้าง ก็ไม่ใช่แล้วครับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง