หน.ศูนย์จีโนมฯ ยืนยัน โควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา ยังไม่น่ากังวล วัคซีนป้องกันได้
จากกรณีสื่อในประเทศมาเลเซียนำเสนอข่าว เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า “แลมบ์ดา” มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ นั้น
วันนี้ (8 ก.ค.64) ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงไวรัสโควิค 19 กลายพันธุ์ที่ชื่อว่าแลมบ์ดาว่า จากการถอดรหัสสายพันธุ์หรือจีโนม เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจพบว่า มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมไม่มากนัก โดยเป็นการเทียบกับโควิดสายพันธุ์เบต้า หรือแอริกาใต้ อัลฟ่า หรืออังกฤษ และแกมม่า หรือ บราซิล ซึ่งองค์การอนามัยโลก จัดให้สายพันธุ์ดังกล่าวยังคงอยู่ใน สายพันธุ์ที่น่า "จับตามอง" เพียงเท่านั้น
สำหรับประเทศไทยยังมีเพียง 3 สายพันธุ์ คือ อัลฟ่า หรือ อังกฤษ เดลต้า หรือ อินเดีย และเบต้า หรือ แอฟริกาใต้ ยังไม่มีสายพันธุ์เดลต้าพลัส สายพันธุ์เอปซีลอน หรือสายพันธุ์แลมบ์ด้า ที่มีการกลายพันธุ์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวลในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันได้มีผลการศึกษาในการทดลองใช้วัคซีนกับโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาแล้ว พบว่า สายพันธุ์แลมบ์ดา สามารถลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้เพียงแค่ 2-3 เท่า เพียงเท่านั้น โดยเป็นการใช้วัคซีนเชื้อตายในการทดลองในครั้งนี้ ส่วนกรณียาต้านไวรัสที่เป็นแอนติบอดีสังเคราะห์พบว่า ยังคงสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจากผลวิจัยทำให้พบว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังคงสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แลมบ์ดาได้
หากถามว่าประเทศไทยต้องกังวลกับการระบาดของสายพันธุ์แลมบ์ด้าได้แล้วหรือยังนั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ ระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องกังวลกับการระบาดของโควิดสายพันธ์ดังกล่าว และแม้ว่าจะมีการติดต่อมายังประเทศไทยจริงก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับการระบาดของสายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์อินเดีย ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้