รีเซต

ศปช. เตือน 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับมือน้ำสูงขึ้น 30 – 50 ซม.

ศปช. เตือน 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับมือน้ำสูงขึ้น 30 – 50 ซม.
TNN ช่อง16
24 ตุลาคม 2567 ( 16:28 )
23

วันนี้ (24 ตุลาคม 2567) เวลา 14.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในพื้นที่บริเวณจังหวัดอุทัยธานี กำแพงเพชร สุพรรณบุรี ทำให้มีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,116 ลบ.ม./วินาที ล่าสุด ศปช. ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,600 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา น้ำสูงขึ้นประมาณ 30 - 50 ซม. 


โดยกรมชลประทานได้ออกประกาศแจ้งเตือน 11 จังหวัด ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว


“ขอแจ้งเตือนประชาชน และผู้ประกอบการริมน้ำ เตรียมพร้อมรับมือน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 – 50 ซม. ในพื้นที่ 11 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมยกของขึ้นที่สูงและติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด”


ทั้งนี้ ศปช. คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอีกระยะหนึ่ง โดยในวันที่ 25 ต.ค. 67 เพิ่มเป็น 1,750 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 26 ต.ค. 67 เพิ่มเป็น 1,900 ลบ.ม./วินาที หากในช่วงวันที่ 26 - 27 ต.ค. ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนลดลงจะปรับลดการระบายน้ำลงให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ล่าสุดที่ประชุม ศปช. ได้สั่งการให้กรมชลประทานพิจารณาลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิต์ที่จะไหลลงมาสมทบที่เขื่อนเจ้าพระยาแล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด 


ด้านพายุโซนร้อนจ่ามี คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอนประเทศฟิลิปปินส์ในวันนี้ จากนั้นจะเคลื่อนไปยังประเทศเวียดนามในช่วงวันที่ 26 - 27 ต.ค. นี้ ก่อนที่จะวนกลับไปในทะเลจีนใต้อีกครั้ง ซึ่งพายุลูกนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่อาจส่งผลให้ประเทศไทยมีเมฆเพิ่มขึ้นและมีฝนบางพื้นที่กับมีลมแรงโดยเฉพาะทางตะวันออกของภาคอีสานในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร ยโสธร ซึ่งยังต้องติดตามพายุลูกดังกล่าว เนื่องจากทิศทางยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นายจิรายุกล่าว


นายจิรายุกล่าวว่า ความคืบหน้าการเร่งรัดจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัยตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ล่าสุด (23 ต.ค. 67) โอนจ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์แล้ว 10 ครั้ง โอนสำเร็จ 63,276 ครัวเรือน จำนวน 569,420,000 บาท จังหวัดที่โอนสำเร็จแล้ว 8 จังหวัด 45 อำเภอ และอยู่ระหว่างการรอโอน 57,208 ครัวเรือน

“สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถรับเงินได้ 1,669 ครัวเรือนนั้น ทราบข้อมูลว่า ไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์กับเลข 13 หลัก มีการเปลี่ยนธนาคารระหว่างการโอน บัญชีถูกปิด บัญชีไม่เคลื่อนไหว กรณีที่โอนเงินไม่สำเร็จทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะส่งกลับข้อมูลให้จังหวัด - อำเภอ - อปท. ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งตามลำดับ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นในเดือน ต.ค. นี้”


ศปช.ส่วนหน้า เผยภารกิจฟื้นฟู จ.เชียงราย ยังเดินหน้าต่อเนื่อง แม้จะเสร็จสิ้นภารกิจระยะแรกแล้วก็ตาม


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ศปช.ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายภารกิจการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งใน อ.เมืองเชียงราย อ.แม่สาย และ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ขณะนี้การฟื้นฟูในระยะที่ 1 (Quick Win) คือการกำจัดโคลนจากบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่สาธารณะทั้งหมดได้เสร็จสิ้นไปแล้ว แต่การเดินหน้าฟื้นฟูจิตใจและส่งมอบความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ยังไม่สิ้นสุด


ล่าสุด นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า จ.เชียงราย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม หมู่บ้านโป่งนาคำ หมู่ที่ 4 ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย พร้อมมอบทุนการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส มอบเครื่องอุปโภคบริโภค และเยี่ยมเยือนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยถือเป็นการส่งมอบกำลังใจที่สำคัญให้กับผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 


ขณะที่ภาพรวมในพื้นที่ อ.แม่สาย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโคลนที่ตกค้าง บางจุดโคลนสูงเป็นเมตร แต่จากความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนขณะนี้ไม่เหลือโคลนที่ต้องใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ในพื้นที่แล้ว เหลือเพียงคราบโคลนที่ติดค้างตามตรอกซอกซอย และถนนสาธารณะบางส่วน ซึ่งขณะนี้ พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช. กลาโหม และ เจ้าหน้าที่ทหาร พลเรือน และอาสาสมัครทั้งหมด ยังเดินหน้าฟื้นฟูในระยะที่ 2 ต่อเนื่อง


ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศปช. พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเดินทางไปส่งมอบพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2567 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง