รีเซต

ส.อ.ท.มั่นใจจ้างงานไม่สะดุด พร้อมคาดจีดีพี ปี’64 กลับมาเป็นบวก 3-4%

ส.อ.ท.มั่นใจจ้างงานไม่สะดุด พร้อมคาดจีดีพี ปี’64 กลับมาเป็นบวก 3-4%
มติชน
20 ธันวาคม 2563 ( 09:00 )
76

นายเกรียงไกร เธียรนุกูลรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ แพปลา จ.สมุทรสาคร นั้น หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่าจะมีต้นตอมาจากแรงงานต่างด้าวที่มีจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนจะทำใการจ้างงานสะดุดหรือไม่นั้น เชื่อว่าจะไม่สะดุด เพราะกระทรวงสาธารณสุขยังมีมาตรการผ่อนคลายที่ยังสามารถเปิดรับแรงงานได้ แต่สำหรับรอบนี้อาจเกิดจากการลักลอบนำเข้าตามเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสาธารณสุขที่ต้องหาสาเหตุให้เจอว่าการระบาดในครั้งนี้มีต้นตอมาจากอะไร เพื่อควบคุมสถานการณ์และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนด้วย

 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า จากกรณีดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจในจ.สมุทรสาคร หยุดชะงักชั่วคราว โดยเฉพาะตลาดขายอาหารทะเลใน ต.มหาชัย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หรือเกิดการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัด และการจ้างงานสะดุดได้ ทั้งนี้ เอกชนอยากให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเรื่องการคัดกรองให้ครอบคลุมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการลักลอบเข้ามาของชาวต่างชาติ และแรงงานไทยในต่างแดน แม้ด้านสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันยังรับมือไหวก็ตาม ส่วนเรื่องการลงทุนจากเหตุการณ์ระบาดรอบนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบถึงภาคการลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากภาคการลงทุนเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดโควิด-19 แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 จะกลับมาเป็นบวกอยู่ที่ประมาณ 3-4% เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวก อยู่ที่ประมาณ 3-5% และภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 8-10 ล้านคน หรือประมาณ 20-25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวมของปี 2562 ส่วนความกังวลในปี 2564 มีหลักๆ ประมาณ 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.เงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภาคเอกชนอยากให้ค่าบาทอยู่ที่ประมาณ 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ 2.การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 3.ปัญหาการคลานแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ในการขนส่งสินค้า 4.ค่าระวางเรือที่มีราคาสูงขึ้น 2-3 เท่า ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงได้ และ 5.ปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองและมีความสำคัญต่อการปรับตัวลดลง หรือเพิ่มขึ้น ของจีดีพี ปี 2564 ทั้งสิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง