รีเซต

นักวิจัยช่วยชาวจีนปลูก 'ต้นหอมป่า' โกยรายได้หลายสิบล้านจาก 'ผืนทราย'

นักวิจัยช่วยชาวจีนปลูก 'ต้นหอมป่า' โกยรายได้หลายสิบล้านจาก 'ผืนทราย'
Xinhua
18 มกราคม 2564 ( 15:31 )
92
นักวิจัยช่วยชาวจีนปลูก 'ต้นหอมป่า' โกยรายได้หลายสิบล้านจาก 'ผืนทราย'

หลานโจว, 18 ม.ค. (ซินหัว) -- เย่ชางเหลียน ผู้ประกอบการจากพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เพาะปลูกอัลเลียมมองโกเลีย (allium mongolicum) ต้นหอมป่าสายพันธุ์เอเชียมานานกว่า 10 ปีแล้ว ด้วยการสนับสนุนจากคณะนักวิจัยชาวจีน พืชทะเลทรายชนิดนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศท้องถิ่นแต่ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ

 

"เรามีโรงปลูกต้นหอมป่านี้มากกว่า 400 หลัง และมีพื้นที่ปลูก 600 เฮกตาร์ (ราว 3,700 ไร่) ทำรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน (ประมาณ 92 ล้านบาท) นำประโยชน์มาสู่สมาชิกสหกรณ์ของเรามากกว่า 1,000 คน" คำบอกเล่าจากเย่

 

เย่อาศัยอยู่ในอำเภอหมินฉิน มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อันเป็นที่รู้จักในฐานะ "ดินแดนแห่งทราย" อำเภอแห่งนี้เป็นเขตโอเอซิสเทียม ตั้งอยู่ระหว่างปาตันจี๋หลินและเถิงเก๋อหลี่ ทะเลทรายขนาดใหญ่สองแห่งในจีน มีพื้นที่ครอบคลุม 85,000 ตารางกิโลเมตร คนท้องถิ่นหาเลี้ยงชีพกันอย่างยากลำบากในอดีต สืบเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีพ

 

หลายสิ่งเริ่มเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยการควบคุมทะเลทรายกานซู่ (Gansu Desert Control Research Institute ) เดินทางเยือนหมินฉินและปักหลักดำเนินงานในท้องถิ่นนานกว่า 60 ปี โดยพวกเขาค้นพบวิธีช่วยชาวบ้านทวงคืนผืนดินจากทะเลทรายได้สำเร็จ

 

เหยียนจือจู้ นักวิจัยประจำสถาบันฯ สนใจและศึกษาต้นหอมป่าสายพันธุ์ข้างต้นที่พบได้เป็นวงกว้างในพื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้งทางตอนเหนือของจีนมาเป็นเวลานานแล้ว เหยียนเชื่อว่าการปลูกต้นหอมชนิดนี้สามารถช่วยหมินฉินเพิ่มจำนวนอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า รวมถึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมและฟื้นฟูระบบนิเวศ เนื่องจากต้นหอมป่านี้สามารถนำมากินได้ และมีคุณสมบัติในการตรึงแนวทราย

 

"เราจะส่งเสริมอุตสาหกรรมเพาะปลูกอัลเลียมมองโกเลียต่อไป ตอนนี้เรามีต้นหอมสายพันธุ์ดังกล่าวราว 100,000 เฮกตาร์ (ราว 620,000 ไร่) ในทะเลทรายทางตอนเหนือของจีน ซึ่งผมคิดว่ามันยังไม่พอ ผมหวังว่าเราจะทำให้มันกลายเป็นแหล่งทรัพยากรผักชนิดใหม่ได้" เหยียนกล่าว

 

ทีมงานของเหยียน มุ่งศึกษาต้นหอมป่าในหมินฉินตั้งแต่ปี 1999 และจากการทดลองอันสลับซับซ้อนหลายรายการ พวกเขาก็ค้นพบว่าจะสามารถบ่มเพาะอัลเลียมมองโกเลียและเพิ่มผลผลิตได้อย่างไร

 

เย่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการปลูกอัลเลียมมองโกเลียในหมินฉิน ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพาะปลูกของทีมเหยียน เขาทำรายได้จากการขายต้นหอมสูงกว่า 20 ล้านหยวน (ประมาณ 92 ล้านบาท) ในปี 2019 ช่วยเพิ่มพูนรายได้ของชาวบ้านหลายร้อยคน

 

"การสนับสนุนทางเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญช่วยทำให้ความฝันที่จะสร้างรายได้มากขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้นนั้นเป็นความจริง" เย่กล่าว

 

ปัจจุบันนักวิจัยชาวจีนนำเทคโนโลยีเพาะปลูกรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยหลายๆ พื้นที่ อย่างเช่นอำเภอหมินฉิน ที่ได้รับผลกระทบจากพายุทรายเนิ่นนานหลายทศวรรษ ทั้งในด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศ การค้นหาแนวทางใหม่เพื่อรับมือการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ตลอดจนการเพิ่มรายได้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง