รีเซต

โควิดเป็นศูนย์ปราบ Omicron ได้ หรือจีนจะตัดสินใจถูกยึดหลัก Zero Covid ต่อ?

โควิดเป็นศูนย์ปราบ Omicron ได้ หรือจีนจะตัดสินใจถูกยึดหลัก Zero Covid ต่อ?
TNN ช่อง16
3 ธันวาคม 2564 ( 15:20 )
55
โควิดเป็นศูนย์ปราบ Omicron ได้ หรือจีนจะตัดสินใจถูกยึดหลัก Zero Covid ต่อ?

ถึงคราวที่ต้องเอ่ยถึงนโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" หรือ Covid Zero กันอีกครั้ง และครั้งนี้ดูจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย กับการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ Omicron ที่มาเร็ว และมาแรง


กว่า 30 ประเทศแล้วที่เจอผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดของโลกตัวนี้ และนำมาสู่มาตรการคุมเข้มพรมแดนเพิ่มเติม ทั้งที่บางประเทศเพิ่งประกาศผ่อนคลายข้อบังคับในการเดินทาง แต่ก็ต้องนับถอยหลังกลับมาอีกอย่างน้อย 1 ก้าว


หวง หยาน จง นักวิจัยอาวุโสด้านสาธารณสุข แห่งสภาวิเทศสัมพันธ์ในนิวยอร์ก พูดถึงไวรัส Omicron ว่า นี่คือ "บูสเตอร์ช็อตสำหรับมาตรการโควิดเป็นศูนย์" หมายถึงว่า เป็นตัวการันตีถึงนโยบายนี้ของจีน ว่ามีข้อดีมากกว่าที่จะมีข้อเสีย (อย่างน้อยก็ในห้วงเวลาที่ไวรัสยังกลายพันธุ์ไม่สิ้นสุด)


แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนในเวลานี้ว่าไวรัสกลายพันธุ์ใหม่นี้มีอันตรายมากขึ้นเดียวใด แต่ค่อนข้างชัดเจนว่า ไวรัสใหม่นี้ จะทะลวงเข้าสู่กำแพงที่จีนตั้งขึ้นไว้ได้ยากมากทีเดียว


---ดาบสองคม---


หวง ระบุว่า นี่ไม่ใช่การแก้ตัว หรือแก้ต่างให้กับแนวทางยึดมั่นใน Covid Zero อย่างเข้มงวดของจีน เพราะท้ายที่สุด แนวทางนี้ก็ถูกจัดว่าเป็นตัว "ฉุดเศรษฐกิจ" อย่างมาก และยังไม่มีการรับประกันใด ๆ ได้ว่าไวรัสตัวนี้ หรือตัวอื่น ๆ จะไม่สามารถหาหนทางเล็ดลอดเข้าสู่แดนมังกรได้ เพราะแม้แต่ Delta ก็ทำได้มาแล้ว


"หากชาติตะวันตกต่างต้อง 'เดินถอยหลัง' กลับจากแนวทางเปิดประเทศ และหวนกลับคืนสู่การปิดกั้นพรมแดนอีกครั้ง พวกเขาก็จะสูญเสียเหตุในการกล่าวหาจีนว่า ยึดมั่นในสิ่งที่ถูก ทั้งที่พวกเขาพยายามกล่าวหามาตลอดว่านั่นคือแนวทางที่ไม่ยั่งยืนและไม่ถูกต้อง" หวง กล่าว


ด้านสื่อทางการจีนอย่าง Global Times ก็ได้ประกาศตนชัดเจนแล้วว่า "จีนเป็นประเทศที่หลีกเลี่ยงความเสียหายจาก Omicron ได้"


ในขณะที่นักวิเคราะห์บางคน ก็มองว่า แนวทางของจีนอาจให้ "ประโยชน์" ได้มากกว่า โดย คิงเกอร์ หลอ นักยุทธศาสตร์แห่งสถาบันโกลแมนแซคส์ ระบุว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และการควบคุมไวรัสโคโรนา ในประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกเช่นนี้ ทำให้จีนอยู่ในสถานะที่ดีกว่าใคร ในการเผชิญหน้ากับไวรัสตัวใหม่นี้


---หากจีนเปิดประเทศ อาจติดโควิด-19 วันละกว่า 6 แสนคน---


แต่จีนก็จำเป็นต้องระวังเอาไว้ก่อน เพราะมีผลการศึกษาจากศูยน์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน ประเมินเอาไว้เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้เองว่า หากจีนเดินหน้าเปิดประเทศ ตามแนวทางตะวันตก เพื่อใช้ชีวิตร่วมกับไวรัส จีนอาจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันละ 637,155 คน!


นี่เป็นการประเมินจากโมเดลสถิติของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มากกว่าชาติใดในโลกเสียด้วยซ้ำ


ไม่เพียงเท่านี้ รายงานยังชี้ด้วยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาการหนัก อาจสูงถึง 22,364 คนต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่านี่คือผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดต่อระบบสาธารณสุขของจีน ที่จีนไม่สามารถรับมือและเผชิญหน้ากับหายนะเช่นนั้นได้


---ผู้เชี่ยวชาญชี้ จีนต้องยึดมั่นแนวทางนี้---


นิโคลัส โธมัส ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยซิตี้ บนเกาะฮ่องกง ผู้ซึ่งเขียนหนังสือด้านนโยบายต่างประเทศและสาธารณสุขหลายเล่ม บอกว่า จีนไม่ได้มีหนทางมากนัก กับแนวทางที่ยึดมั่นอย่างยิ่งยวดนี้


เพราะวัคซีนเชื้อตายที่มีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่านวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้จีนไม่มีทางเลือกอื่นที่มากพอ แม้ว่าจะลดอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ก็จริง แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ / ติดเชื้อซ้ำ ได้เท่ากับวัคซีนชนิด mRNA ของชาติตะวันตก


อีกทั้งยังมีข้อมูลวิจัยที่ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องนี้ เกี่ยวกับการป้องกันไวรัส Delta เมื่อเทียบกับวัคซีนของชาติตะวันตก


และนั่นคือเหตุผลว่า จีนยังคงยึดมั่นแนวทาง Covid Zero ต่อไป แม้ว่าจะฉีดวัคซีนได้มากกว่า 75% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว รวมถึงเด็กที่อายุ 3 ปีขึ้นไป ตลอดจนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว


นั่นเพราะจีนเองก็ยังไม่ได้มีความมั่นใจเพียงพอว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจต่อไป และจีนจำเป็นต้องทำให้การติดเชื้อโควิด-19 ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนกว่าจะถึงการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งใหญ่ช่วงกลางปี 2022 ซึ่งจะเป็นเวทีที่ประกาศชัดเจนในการให้ "สี จิ้น ผิง" ดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 3 ต่อไป

—————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: STR / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง