เดิมที ในวันนี้ (15 ตุลาคม) ถูกกำหนดในเป็นวันประชันวิสัยทันศ์ครั้งที่ 2 ระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน และอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดนจาก พรรคเดโมแครต แต่การดีเบตครั้งนี้เป็นอันต้องยกเลิกไป เนื่องจาก ผู้นำสหรัฐฯ ถูกตรวจพบว่าติด COVID-19
วันนี้ เศรษฐกิจ insight ซึ่งเกาะติดการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้มาตลอด จะพาคุณผู้ชมไปประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย "Trumponomics" ที่เน้นใช้มาตรการลดภาษี เน้นใช้นโยบายการเงินมากกว่านโยบายการคลัง และผ่อนคลายกฎระเบียบด้านธุรกิจ จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวแค่ไหน และเป้าหมายใดบ้างที่ โดนัล ทรัมป์ สามารถพิชิตได้ตามที่เคยประกาศไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การลดอัตราว่างงาน การเพิ่มอัตราขยายตัวของ GDP ที่ 3 เปอร์เซนต์ต่อปี และการขจัดปัญหาการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ
เริ่มกันที่ผลงานด้านเศรษฐกิจที่ "ทรัมป์" คุยโวและภาคภูมิใจที่สุดกันก่อน นั้นก็คือ อัตราการว่างงาน โดยจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017 จนถึงช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 อัตราว่างงานของสหรัฐฯ ลดลงเรื่อยๆ จนถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.5 เปอร์เซนต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2019 และเดือนกุมภาพันธ์ 2020
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายการ เศรษฐกิจ INSIGHT 15 ต.ค.63
ขณะที่อัตราว่างานในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นรายงานตัวเลขว่างงานรายเดือนฉบับสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ สามารถฟื้นตัวได้กลับมาแล้วอยู่ที่ 7.9 เปอร์เซนต์ จากระดับ 14.7% ในเดือนเมษายน 2020 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)
ไมเคิล บราวน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐอเมริกาจาก Visa ระบุว่า อัตราว่างงานที่ลดลง ถือเป็นตัวเลขสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเชิง "จิตวิทยา" อย่างไรก็ดี การประกาศว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันเดียวกัน (2 ตุลาคม) ทำให้ผู้คนสนใจตัวเลขการว่างงานเดือนที่ผ่านมาน้อยลง
สำหรับตัวชี้วัดต่อไปนั่นก็คือ "เงินเฟ้อ" ที่ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญสักเท่าไหร่ กลับอยู่ในระดับประมาณ 2 - 3 เปอร์เซนต์ ตั้งแต่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017 สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระดับอ่อนๆ ภายใต้การนำของทรัมป์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนี CPI จะดิ่งลงอย่างหนัก ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือ หลังเกิดเหตุไวรัสโควิด-19 ระบาดก็ตาม แต่โดยภาพรวมของตัวเลขเงินเฟ้อของทรัมป์ยังดีกว่า ช่วงที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2009 - 2017 ที่ดัชนี CPI เคยติดลบด้วยซ้ำ
สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ทรัมป์ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยในช่วงที่ทรัมป์รับตำแหน่งใหม่ๆ เคยประกาศว่า รัฐบาลได้ตั้งเป้าเพิ่มอัตราขยายตัวของ GDP ที่ 3 เปอร์เซนต์ต่อปี แต่ "ส่วนตัว" เขามองว่า GDP อาจเพิ่มได้ถึง 5 เปอร์เซนต์ต่อปี
แต่ในความเป็นจริงจะเห็นได้ว่า GDP สหรัฐฯ หลังทรัมป์รับตำแหน่งโตเกิน 3 เปอร์เซนต์ แค่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2017 และไตรมาสแรกของปี 2018 เท่านั้น
ขณะที่ ปัญหาขาดดุลทางการค้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหลักของทรัมป์ และนำมาสู่การตั้งกำแพงภาษีกับประเทศต่างๆ และการเปิดสงครามทางการค้ากับจีน ในปี 2018 ได้ทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลงเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2019 จนถึงต้นปีที่ผ่านมาเท่านั้น
แต่ภาพรวมการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ กลับแย่กว่าก่อนทรัมป์รับตำแหน่งเสียอีก
นอกเหนือจาก ตัวเลขการขาดดุลการค้า // GDP // CPI และ ตัวเลขการว่างงานแล้ว เศรษฐกิจอินไซต์ ได้มีโอกาสพูด
คุยกับ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้ที่ติดตามการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกามาตลอดหลายปี และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ มองว่า อีกหนึ่งความสำเร็จของทรัมป์ที่ปรากฎเป็นรูปธรรม คือ นโยบาย America First และ America Great Again ที่ทำให้อุตสาหกรรมบางส่วน อย่างเช่น บริษัทผลิตรถยนต์ย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศ และ การเพิ่้มขึ้นของมูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ทำ New High ครั้งแล้วครั้งเล่า จากมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของทรัมป์
อย่างไรก็ดี จากความสำเร็จด้านตลาดหุ้นนี้กลับนำมาสู่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีรายได้น้อยและสูงในสหรัฐเมริกา ที่อาจารย์สมภพมองว่า อาจกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ "ทรัมป์" อาจจะปราชัยในศึกครั้งนี้ได้
ขณะที่จากรายงาน ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) วาณิชธนกิจรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ที่เปิดเผยออกมาเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างชุมชนคนผิวสีและผิวขาวในสหรัฐอเมริกา ได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 500 ล้านล้านบาท) ตลอดระยะช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
โดยในรายงานยังพบว่า ครอบครัวชาวผิวขาวมีความมั่งคั่งมากกว่าครอบครัวคนผิวดำถึง 8 เท่า / ส่วน อัตราการเป็นเจ้าของบ้านในสหรัฐฯ ในหมู่คนผิวขาวอยู่ที่ประมาณ 80% เมื่อเทียบกับอัตราคนผิวสีที่ 47% เท่านั้น / ขณะที่ คนผิวสีมีแนวโน้มที่จะถูกจองจำมากกว่าคนผิวขาวถึง 5 เท่า หรือคิดเป็นสัดส่วน 33% ของประชากรทั้งหมดในเรือนจำสหรัฐฯ
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้กรุ๊ป ยังระบุด้วยว่า วิกฤตด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดและความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ ซึ่งยังคงมีอยู่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่า "Trumponomics" มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และความล้มเหลว ซึ่งอย่างหลังกลายเป็นจุดอ่อนของทรัปม์ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการจัดการโควิด ความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งทางเชื้อชาติ จึงเป็นประเด็นที่ไบเดนหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงกฎหมายประกันสุขภาพ และเพิ่มระบบประกันสุขภาพที่ดำเนินการโดยรัฐบาล (จากเดิมที่มีแค่เอกชนเป็นผู้ให้บริการ) /
และไบเดนยังเน้นทำนโยบาย “ตรงข้าม” กับทรัปม์ เช่น การขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21 เปอร์เซนต์ เป็น 28 เปอร์เซนต์ / การขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราสูงสุดเป็น 39.6 เปอร์เซนต์ จากอัตราปัจจุบันที่ 37 เปอร์เซนต์ รวมถึงจะนำสหรัฐฯกลับคืนสู่เวทีโลก เพื่อการกอบกู้เกียรติภูมิของสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำในเวทีโลก
ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2020 หากทรัปม์ชนะ นโยบายเศรษฐกิจคงไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา แต่หากไบเดนชนะ อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯอย่างมีนัยสำคัญ