รีเซต

ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ร้อนแรง ชาติ EU หนุนฝรั่งเศสจู่โจมสหรัฐฯ

ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ร้อนแรง ชาติ EU หนุนฝรั่งเศสจู่โจมสหรัฐฯ
TNN ช่อง16
21 กันยายน 2564 ( 12:06 )
52
ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ร้อนแรง ชาติ EU หนุนฝรั่งเศสจู่โจมสหรัฐฯ

การประชุมสมัชชาใหญ่ UN ประจำปีนี้ ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดทั่วโลก ที่ผู้นำโลกเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมแบบพบหน้า


ชาติ EU ได้แสดงท่าทีสนับสนุนฝรั่งเศส ก่อนที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีกำหนดจะกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ในช่วงสายของวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลาประมาณ 21.00 น. คืนนี้ (21 กันยายน) ตามเวลาในบ้านเรา


วิกฤตการทูตจากข้อตกลงออคุส ที่เป็นความร่วมมือของสามชาติคือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ทำให้สหภาพยุโรปออกโรงป้องฝรั่งเศสที่ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลจากข้อตกลงดังกล่าว


EU ออกโรงป้องฝรั่งเศส


นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป แถลงต่อสื่อมวลชนที่สำนักงานใหญ่ UN ที่นิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ (20 กันยายน) ว่า หลักการพื้นฐานของการเป็นพันธมิตรคือความโปร่งใสและความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งทั้งหมดต้องไปด้วยกัน แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือ การขาดความโปร่งใสและความซื่อสัตย์


มิเชลกล่าวว่า ชาวยุโรปต้องการความชัดเจนและพยายามทำความเข้าใจว่าอะไรคือเจตนาของการประกาศนี้


ข้อตกลงออคุสนั้น จะทำให้ยุโรปพยายามมากขึ้นในการสร้างแสนยานุภาพการป้องกันตนเองด้วย และความเคลื่อนไหวของยุโรปนั้นจะไม่ถือเป็นการต่อต้านพันธมิตร เพราะหากยุโรปแข็งแกร่งขึ้น ย่อมหมายความว่าพันธมิตรของยุโรปก็แข็งแรงขึ้นเช่นกัน


อเมริกาคนเดิมกลับมาแล้ว?


ประธานคณะมนตรียุโรปยังตั้งคำถามระหว่างแถลงข่าวด้วยว่า อเมริกา “คนเดิม” กลับมาแล้วจริงหรือ ซึ่งเป็นคำที่ไบเดนเคยประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า รัฐบาลของเขาเป็นการกลับมาของอเมริกาที่เป็นคนเดิม ก่อนหน้ายุคอดีตประธานาธิบดีทรัมป์


มิเชลกล่าวว่า “กับทรัมป์ อย่างน้อยก็มีความชัดเจนมาก ทั้งน้ำเสียง สาระ และภาษา ชัดเจนมากว่า EU ไม่ใช่หุ้นส่วนหรือพันธมิตรที่มีประโยชน์ในความเห็นของเขา”


ด้านโซฟี วิลเมส รัฐมนตรีต่างประเทศเบลเยี่ยม กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องสัญญาเรือดำน้ำนั้น เหมือนฟ้าผ่าลงที่ฝรั่งเศสก่อน แต่ก็ผ่าลงที่ยุโรป และสำหรับโลกในระดับภูมิยุทธศาสตร์ด้วย ยุโรปจำเป็นต้องมีปากมีเสียงมากกว่านี้และแสดงออกมาในเวทีโลก


ด้านโจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของ EU กล่าวหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ EU ควบคู่ไปกับการประชุม UNGA ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ EU ได้แสดงความเป็นอันหนึ่งใจเดียวกันกับฝรั่งเศส และได้เรียกร้องให้ชาติสมาชิกอียูร่วมมือกันให้มากขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก


ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า ความขัดแย้งระหว่างออสเตรเลียกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นสมาชิก EU ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้ารอบต่อไป ระหว่าง EU กับออสเตรเลีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคมนี้หรือไม่


ฝรั่งเศสเรียกร้อง EU คิดหนักเกี่ยวกับสหรัฐฯ


ฌอง อีฟส์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์กเช่นกัน ได้เรียกร้องให้ EU คิดให้หนักเกี่ยวกับพันธมิตรหลังเกิดความขัดแย่งเรื่องเรือดำน้ำ


เลอ ดริยอง กล่าวว่า ประเด็นแรกคือการละเมิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพันธมิตร เขาจึงเรียกร้องให้ยุโรปคิดอย่างหนัก


ก่อนหน้านี้ เลอ ดริยอง กล่าวหาสหรัฐฯว่าทรยศ และออสเตรเลียแทงข้างหลัง และเขายังประณามอีกครั้งว่าการประกาศพันธมิตรไตรภาคีของประธานาธิบดีไบเดนเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมานั้น เป็นการประกาศที่โหดเหี้ยม


เขาย้ำว่า ความเป็นพันธมิตรฝรั่งเศส-อเมริกานั้นหมายถึงความโปร่งใส่ การอธิบาย การพูดหารือกัน ซึ่งทั้งหมดต้องการการอธิบายอย่างชัดเจนในวันนี้


นอกจากนี้ เลอ ดริยอง ยังประณามทิศทางที่นำไปสู่การเผชิญหน้ากับจีนของสหรัฐฯด้วยและกล่าวว่าเสียใจที่ยุโรปถูกตัดออกจากยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ


ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย บรรลุข้อตกลงพันธมิตรสามฝ่ายออคุส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อผนึกกำลังต้านอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อข้อตกลงลงที่ออสเตรเลียลงนามกับฝรั่งเศสในปี 2016 เพื่อซื้อเรือดำน้ำ 12 ลำมูลค่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท มีอันต้องถูกยกเลิกไป


ออสเตรเลียอ้างว่า ข้อตกลงเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมที่ทำไว้กับฝรั่งเศสนั้นไม่เพียงพอต่อการทำให้ศักยภาพเรือดำน้ำของออสเตรเลียทันสมัยในหลายทศวรรษต่อจากนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน ออสเตรเลียจึงหันไปร่วมมือกับสหรัฐฯในการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แทน


ข้อตกลงใหม่กับสหรัฐฯจะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นชาติที่เจ็ดของโลกที่จะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์


นอกจากนี้ ออคุสยังครอบคลุมการแบ่งปันศักยภาพด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีใต้น้ำอื่น ๆ ระหว่างสามชาติไตรภาคีด้วย



ข่าวที่เกี่ยวข้อง