รีเซต

เปิดตลาดดวงจันทร์ Toyota จ่อผลิต “รถตู้ปรับแรงดัน” ให้ NASA

เปิดตลาดดวงจันทร์ Toyota จ่อผลิต “รถตู้ปรับแรงดัน” ให้ NASA
TNN ช่อง16
19 เมษายน 2567 ( 14:53 )
31

ญี่ปุ่นเตรียมสร้างรถตู้ปรับแรงดัน (Pressurized camper van) ที่มีลักษณะคล้ายกับรถบ้านของสายแคมป์ปิ้ง ให้กับเหล่านักบินอวกาศที่จะเดินทางกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งภายใต้โครงการอาร์เทมิส VII (Artemis VII) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา (NASA) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2031


รถตู้ดังกล่าวซึ่งจะเป็นผลงานการสร้างสรรค์ร่วมกันขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และบริษัทโตโยต้า (Toyota) ผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังของญี่ปุ่น จะเป็นรถตู้จำนวน 2  ที่นั่ง ยาว 6 เมตร กว้าง 5.2 เมตร และสูง 3.8 เมตร มีฟังก์ชันปรับแรงดันภายใน ทำให้นักบินอวกาศสามารถทำงานขณะอยู่บนรถคันดังกล่าวได้สูงสุด 30 วันโดยใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ อย่างเสื้อยืดและไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักบินอวกาศได้


อีกทั้งยังใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน พร้อมทั้งมีแผงโซลาร์เซลล์ที่อาจช่วยรีไซเคิลน้ำเสียด้วยการแปรสภาพน้ำเหล่านั้นกลับไปเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่ายานพาหะคันนี้จะมีระยะทางในการขับเคลื่อนอยู่ที่ 10,000 กิโลเมตร และแน่นอนว่ามันจะนำมาใช้ในการสำรวจขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์


ความคืบหน้าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 9 เมษายน โดยบิลล์ เนลสัน (Bill Nelson) ผู้อำนวยการนาซา และมาซาฮิโตะ โมริยามะ (Masahito Moriyama) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MEXT) ของญี่ปุ่น ที่สำนักงานใหญ่ของนาซา กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา 


โดย JAXA จะเป็นผู้จัดสรรยานพาหนะดังกล่าวในขณะที่ NASA จะขนส่งมันไปยังดวงจันทร์ภายใต้ภารกิจ Artemis VII ในปี 2031 และเมื่อขึ้นไปยังเป้าหมายได้สำเร็จรถตู้คันนี้จะปฏิบัติหน้าที่บนดวงจันทร์เป็นเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังรวมถึงการส่งนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นชุดแรกไปเหยียบดวงจันทร์อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพการทำงานบนดวงจันทร์นั้นค่อนข้างท้าทาย ทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่มีอากาศ อุณหภูมิในบริเวณหนึ่งที่มีความแตกต่างสุดโต่งตั้งแต่ -170 ถึง 120 องศาเซลเซียส ซ้ำยังมีแรงโน้มถ่วงแค่เพียงหนึ่งในหกของโลก รถตู้ปรับแรงดันจึงมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยให้การทำงานของนักบินอวกาศมีความสะดวกสบายและความปลอดภัยมากขึ้น 



ที่มาข้อมูล Newatlas

ที่มารูปภาพ NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง