ไม่เน้นเร็ว เน้นอึด ! ยานใต้น้ำแบบใหม่จากกองทัพสหรัฐฯ เลียนแบบกระเบน ประหยัดพลังงาน
นอร์ธอร์ป กรัมแมน (Northrop Grumman) บริษัทเทคโนโลยีการบินและการป้องกัน สัญชาติสหรัฐฯ เปิดตัวโมเดลต้นแบบ (Prototype) ของยานพาหนะใต้น้ำแบบไร้คนขับ (UUV : Unamanned Underwater Vehicle) ที่ชื่อ แมนต้าเรย์ (Manta Ray) เป็นครั้งแรก ยานนี้ออกแบบมาโดยมีเป้าหมายคือการสร้าง UUV แบบใหม่ที่สามารถทำงานได้ในระยะยาว ใช้พลังงานน้อย เดินทางได้ไกล และรองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้น
การออกแบบของแมนต้าเรย์เน้นที่ความทนทานมากกว่าความเร็ว ถูกตั้งเป้าให้นำไปใช้งานในภารกิจทางการทหารที่ต้องเดินทางระยะไกลและใช้เวลานาน เช่น การเฝ้าระวัง คอยฟังเสียงจากเรือดำน้ำของศัตรู โดยจะรวบรวมข้อมูลใต้ทะเลจำนวนมหาศาล จากนั้นปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะคัดกรองข้อมูลที่น่าสงสัยและจะส่งต่อไปให้มนุษย์วิเคราะห์ ในขณะเดียวกันก็เป็นยานพาหนะที่สามารถบรรทุกอุปกรณ์ทางการทหารได้ด้วย
จุดเด่นของแมนต้าเรย์คือมีความสามารถในการตรวจจับสูง ใช้พลังงานในการเคลื่อนที่ต่ำแต่มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่สูง ทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์บนยานคอยควบคุม ตัวยานสามารถยึดกับพื้นทะเลและเข้าสู่ภาวะจำศีลเมื่อพลังงานต่ำได้ นอกจากนี้แมนต้าเรย์ยังมีความสามารถในการเก็บเกี่ยวพลังงานใต้ทะเลอีกด้วย ซึ่งบริษัทยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนว่าเก็บเกี่ยวพลังงานด้วยวิธีใด มีเพียงชุดข้อมูลจากปี 2022 ที่ระบุว่า ตัวยานจะมีส่วนประกอบแยกออกมา เพื่อเป็นตัวสร้างพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นใต้ทะเลที่ไหลผ่านตัวยาน
นอกจากนี้ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลจำเพาะอื่น ๆ เช่น ตัวเลขของระยะที่สามารถเดินทางได้ ขนาดแบตเตอรี่ รวมถึงขนาดของยานด้วย แต่ชี้ว่ายานสามารถแยกส่วนเพื่อให้สะดวกต่อการขนส่ง และต้องใช้รถคอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐาน (กว้าง 2.3 เมตร สูง 2.3 เมตร ยาว 12 เมตร) มากถึง 5 คันเพื่อบรรทุก ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่าแมนต้าเรย์รวมถึงโครงสร้างอื่น ๆ ที่ต้องใช้ทำงานร่วมด้วย อาจจจะมีขนาดใหญ่มาก
ยานใต้น้ำลำนี้มีลักษณะภายนอกเหมือนกระเบนราหู ซึ่งเป็นที่มาของชื่อยานอย่าง Manta Ray เลียนแบบการเคลื่อนที่ของกระเบนราหู ผสมผสานเข้ากับระบบอัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยกระเบนราหูจะมีครีบที่ทำหน้าที่คล้ายปีกกระพือไปช้า ๆ ใต้น้ำ การร่อนลักษณะนี้ช่วยให้ประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนที่
ยานแมนต้าเรย์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ที่ทำร่วมกับ ดาร์ปา (DARPA ย่อมาจาก Defense Advanced Research Projects Agency) หน่วยงานของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้ทางการทหาร โครงการนี้เปิดตัวตั้งแต่ปี 2020 และใช้เวลาสร้างนานถึง 4 ปี เพราะต้องพัฒนายานให้สู้กับข้อจำกัดหลายข้อ เช่น การออกแบบที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องน้ำทะเลมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง หรือสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอย่างเพรียง แมงกระพรุน และสาหร่ายทะเลอาจทำให้ยานสกปรกได้ รวมไปถึงรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะแสงแดด แพร่กระจายในน้ำทะเลได้ไม่ดี ทั้งนี้ เบื้องต้นบริษัทผู้พัฒนายังไม่ได้เปิดเผยอย่างชัดเจน ว่าสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้แล้วหรือไม่
ทั้งนี้ นอร์ธอร์ป กรัมแมน ระบุว่าว่า ขั้นตอนต่อไปของโมเดลต้นแบบยานแมนต้าเรย์นี้จะถูกประเมินการออกแบบและการทดลอง จากนั้นจะถูกนำไปสาธิตในทะเลเปิด เมื่อสำเร็จแล้วจึงจะถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยียานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับขั้นสูงในอนาคต
ที่มาข้อมูล Newatlas, Northropgrumman, Popularmechanics
ที่มารูปภาพ Northropgrumman