รีเซต

"รัสเซีย" ไม่รอดภาษี "ทรัมป์" เสี่ยงถูกกระแทก จากสงครามการค้าโลก

"รัสเซีย" ไม่รอดภาษี "ทรัมป์" เสี่ยงถูกกระแทก จากสงครามการค้าโลก
TNN ช่อง16
18 เมษายน 2568 ( 10:17 )
7

แม้ว่ารัสเซียจะไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหม่ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” แต่รัฐบาลรัสเซีย ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจของรัสเซีย อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจ ที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้าในระดับโลกได้

"ดมิทรี เพสคอฟ" โฆษกทำเนียบเครมลิน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC โดยกล่าวยอมรับว่า ความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจโลก จากปัจจัยสงครามการค้า ย่อมส่งผลกระทบต่อรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม "เพสคอฟ" ก็ได้ย้ำเพิ่มเติมว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมา รัสเซียจะเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจำนวนมาก แต่รัสเซียก็สามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคไว้ได้ 

สำหรับรัสเซีย เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่ไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าครั้งใหม่ของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสมดุลการแข่งขันทางการค้าในระดับโลก ซึ่งโฆษกทำเนียบขาว "คาโรไลน์ เลวิตต์" ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่รัสเซียไม่ถูกขึ้นภาษี เพราะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีต่อรัสเซียภายหลังการรุกรานยูเครนในปี 2022 ได้ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้ว

ขณะที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ CNBC ว่าทั้งรัสเซีย รวมถึงคิวบา เบลารุส และเกาหลีเหนือ ต่างไม่อยู่ภายใต้คำสั่งรเรื่องภาษีตอบโต้ เพราะประเทศเหล่านี้ เผชิญกับภาษีในระดับสูงอยู่แล้ว และการคว่ำบาตรก็ทำให้ไม่มีการค้าขายที่มีนัยสำคัญกับสหรัฐฯ

ด้านท่าทีของรัสเซียที่มีต่อมาตรการภาษีของทรัมป์ ค่อนข้างมีความเห็นที่หลากหลาย บางส่วนมองว่ารัสเซียยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ผลกระทบของสงครามการค้า ก็อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจของคู่แข่ง อาจส่งผลดีต่อรัสเซียในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ปะทุขึ้น ก็จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของสหรัฐฯ ออกจากยุโรป

"ทรัมป์" ขู่ปลด "พาวเวล" พ้นประธานเฟด หากไม่ลดดอกเบี้ย

เพียงชั่วข้ามคืน หลัง "เจอโรม พาวเวล" ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ออกมาวิจารณ์นโยบายภาษีของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ว่าเป็นความเสี่ยงที่ฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลง "โดนัลด์ ทรัมป์" ก็เรียกร้องกลับให้ "พาวเวล" เดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงทันที พร้อมยังขู่ว่าจะปลด "พาวเวล" ออกจากตำแหน่งด้วย หากไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว

ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้โพสต์ข้อความใน "Truth Social" เรียกร้องให้ "เจอโรม พาวเวล" ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง พร้อมทั้งยังวิจารณ์การทำงานของ "พาวเวล" ด้วยว่า มักจะช้าเกินไปและผิดพลาด 

โดยทรัมป์ อ้างอิงถึงการออกรายงานฉบับล่าสุดของเฟด ว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระโดยสิ้นเชิง เนื่องจากขณะนี้ ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ กำลังปรับตัวลง ราคาสินค้าในร้านชำ หรือแม้แต่ไข่ไก่ ก็กำลังลดลง และสหรัฐอเมริกา ก็กำลังร่ำรวยขึ้นจากการจัดเก็บภาษีศุลกากร

ข้อความของ "ทรัมป์" ได้ตอกย้ำว่า "พาวเวล" นั่นลดอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป และย้ำว่าเขาควรปรับลดมานานแล้วเหมือนกับที่ธนาคารกลางยุโรปทำ และเขาควรลดดอกเบี้ยลงทันทีในขณะนี้ พร้อมกับขู่ว่า การปลด "พาวเวล" ออกจากตำแหน่งนั้น ไม่สามารถอดทนรอได้อีกต่อไป! 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทรัมป์ ขู่ปลด "พาวเวล" ออกจากตำแหน่งด้วย ขณะที่ก่อนหน้านี้ "พาวเวล" เองก็ย้ำมาโดยตลาดว่า ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ไม่มีอำนาจในการปลดเขาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานเฟดในเดือนพฤษภาคมปีหน้า 

ทั้งนี้ "พาวเวล" เพิ่งจะแสดงความกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของ "ทรัมป์" โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง ซึ่งผลจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีศุลกากร ยังทำให้เฟด ตกที่นั่งลำบากระหว่างการใช้นโยบายควบคุมเงินเฟ้อและการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเฟดจะรอความชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ย

ECB หั่นดอกเบี้ย ร้อยละ 0.25 เน้นตั้งรับความเสี่ยง สงครามการค้าโลก

ธนาคารกลางยุโรป มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ตามคาด ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางความผันผวนที่เกิดจากสงครามการค้า ซึ่งสร้างความไม่แน่นอน และก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซน

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในการประชุมเมื่อคืนที่ผ่านมา และเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 7 แล้ว นับตั้งแต่ ECB เริ่มวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนปี 2567 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ ECB ขยับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.65 และอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ลงอยู่ที่ร้อยละ 2.40 

แถลงการณ์ของ ECB ระบุว่า "แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ถูกบั่นทอนลง ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะลดความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ขณะที่ความผันผวนในตลาดอันเนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าจะส่งผลกระทบให้สถานการณ์ทางการเงินตึงตัวมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี ECB ยังระบุว่า กระบวนการลดอัตราเงินเฟ้อ (“disinflation”) ยังดำเนินไปตามเป้าหมายได้ดี โดยตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานส่วนใหญ่ ชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงและทรงตัวที่ระดับเป้าหมายระยะกลางที่ร้อยละ 2 ได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ “คริสตีน ลาการ์ด” ประธาน ECB กล่าวว่ายูโรโซนกำลังเผชิญกับ “แรงกระแทกทางอุปสงค์ในเชิงลบ” (negative demand shock) ซึ่งเป็นผลกระทบสำคัญจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านภาษีนำเข้าและนโยบายการค้าระหว่างประเทศ พร้อมเตือนว่า แม้มาตรการภาษีบางส่วนถูกบังคับใช้แล้ว แต่ “สิ่งที่อาจส่งผลกระทบมากกว่านั้นยังอาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี “ลาการ์ด” เน้นย้ำว่า แม้ภาษีอาจมีผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ผลสุทธิที่มีต่อเงินเฟ้อนั้นยังไม่ชัดเจนในขณะนี้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง