รีเซต

ทักษิณกลับไทย! ราชทัณฑ์ เผย สามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ทันที

ทักษิณกลับไทย! ราชทัณฑ์ เผย สามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ทันที
TNN ช่อง16
22 สิงหาคม 2566 ( 17:18 )
190

กรมราชทัณฑ์ เผย "ทักษิณ ชินวัตร" สามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ตั้งแต่วันนี้ ส่วนมื้อเย็นของเรือนจำในวันนี้ (22 สิงหาคม) จะเป็นข้าวต้มกับผักต้ม


ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงประเด็นการผ่อนปรนมาตรการบางอย่างให้กับ นาย ทักษิณ ชินวัตร ว่าในส่วนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีการตัดผมในรูปแบบของรองทรงอยู่แล้ว ซึ่งสำหรับ นายทักษิณ นั้น อาจจะไม่ถึงขนาดตัดผมแบบนักโทษทั่วไป เพราะถือว่า นายทักษิณ เป็นผู้ใหญ่และเป็นผู้สูงอายุ 


ส่วนห้องที่ใช้ในการควบคุมตัวนั้น เป็นห้องกักโรคภายในอาคารสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งได้จัดไว้ให้พักอยู่คนเดียว ไม่ปะปนกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอายุมากและอยู่ในกลุ่ม 608  รวมถึงเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค ซึ่งจะต้องระมัดระวังไม่ให้มีการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะจากโรคโควิด-19 เป็นพิเศษ เนื่องจากมีประวัติเคยติดโควิด-19 มาแล้ว ซึ่งหากเกิดกรณีติดเชื้อซ้ำและมีอาการหนัก ตามหลักของโรงพยาบาลทัณฑสถานราชทัณฑ์นั้น มีแพทย์เฉพาะทางไม่เพียงพอดังนั้น ซึ่งหากมีการติดเชื้อ ก็จะต้องมีการส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลตำรวจก่อนเป็นอันดับแรก


นายสิทธิ สุชีวงศ์ รองอธิบดี และโฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุถึงการเยี่ยมนายทักษิณ ว่า ตามมาตรการของกรมราชทัณฑ์ จะต้องมีการกักตัวในเบื้องต้น 10 วัน โดยใน 5 วันแรกจะเป็นการกักตัวแบบเข้มข้น คือจะต้องอยู่แต่ภายในห้องเพียงเท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะเข้าพบได้จะมีแค่ทนายความตามกฎหมายเพียงเท่านั้น ส่วน 5 วันหลังจะเป็นการผ่อนปรน ซึ่งญาติที่ต้องการเยี่ยม สามารถเยี่ยมผ่าน application line ได้นับจากนั้น ส่วนการดูแล นาย ทักษิณ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางนั้น กรมราชทัณฑ์จะมีการดูแลเป็นพิเศษอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของอาหารเสริมหรือยา จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จากกองบริการทางการแพทย์ และจากมูลนิธิต่าง ๆ ก็ได้มีการบริจาคเข้ามาให้เสมอ



ภาพจาก TNN Online

 



ส่วนการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น นับตั้งแต่วันนี้ในส่วนของ นายทักษิณ หรือ ทนายความที่ได้รับมอบอำนาจ หรือ ญาติ สามารถที่จะยื่นเรื่องได้ทันที ซึ่งขั้นตอนและกระบวนการนั้นจะมีการตรวจสอบเอกสาร ว่ามีความพร้อมหรือไม่ และทางเรือนจำจะมีคณะกรรมการพิจารณา ก่อนส่งเรื่องไปยังกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาและส่งต่อไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อเสนอไปทางนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ลงนาม ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็มีความพร้อมที่จะรับ ถ้าหากมีผู้เกี่ยวข้องเข้ามายื่นเอกสาร


สำหรับการพระราชทานอภัยโทษนั้นมี 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ เป็นการเฉพาะราย กับ การทั่วไป ซึ่งการยื่นเข้ามาในรูปแบบของเป็นการทั่วไปนั้นจะเกิดขึ้นตามโอกาสและวันสำคัญต่าง ๆ แต่ในส่วนของ นาย ทักษิณ จะเป็นการยื่นเฉพาะราย ซึ่งโดยกระบวนการจากนายกรัฐมนตรียื่นเรื่องไปให้องคมนตรีพิจารณานั้น จะใช้ระยะเวลาอยู่ราว 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับขั้นตอน ซึ่งส่วนใหญ่จะช้าเกี่ยวกับการรวบรวมเอกสาร เพราะมีเอกสารประกอบเป็นจำนวนมาก ส่วนการพิจารณานั้นเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ไม่มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาใด


นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ระบุถึงอาหารในเรือนจำสำหรับผู้ต้องทำอะไรอยู่ในเรือนจำ ว่าในเรือนจำจะมีอาหารของเรือนจำ และอาหารที่เรียกว่าระบบสงเคราะห์ ที่เป็นรูปแบบของร้านค้า ซึ่งมีรายการอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพ ซึ่งผู้ต้องขังสามารถใช้จ่ายได้วันละ 600 บาท ซึ่งเมนูที่กองบริการทางการแพทย์กรมราชทัณฑ์ ได้จัดทำมีเมนูที่เหมาะกับผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง เช่น เมนูที่มีโซเดียมน้อย หรือเป็นเมนูที่ไม่อันตรายต่อโรคของผู้ต้องขัง 


ซึ่งผู้ต้องขังทุกคนสามารถเลือกบริโภคได้เช่นเดียวกัน โดยหลักการควบคุมนั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะริดรอนเรื่องของสุขภาพ ดังนั้นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่ม 608 ก็จะสามารถเข้าถึงอาหารเสริม หรืออาหารที่ทำให้สุขภาพดีขึ้น หรือยาเฉพาะสำหรับโรคของผู้ป่วยนั้น ๆ ก็สามารถที่จะเข้ามาฝากในระบบของเรือนจำ และให้ หมอ หรือ เภสัชกร ลงความเห็น ก่อนนำไปจัดให้กับผู้ต้องขังใช้ในการดูแลรักษาร่างกายได้


ส่วนการเข้ามาอยู่ในเรือนจำนั้น ถือว่าในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการปรับตัว และตัวของนายทักษิณ ยังไม่ได้มีการรับประทานอาหารอะไร ส่วนมื้อเย็นของเรือนจำในวันนี้ จะเป็นข้าวต้มกับผักต้ม ซึ่งต้องดูว่าผู้ต้องขังสามารถรับประทานได้หรือไม่


ด้านนายแพทย์ วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุเพิ่มเติมว่าจากการตรวจสัญญาณชีพของ นาย ทักษิณนั้น พบว่ามีสัญญาณชีพที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ มีค่าของความดันโลหิตที่สูงบ้าง ซึ่งจากการตรวจ MRI พบว่ากล้ามเนื้อบางมัดมีการอ่อนแรงลงไปบางส่วน แต่ยังไม่ส่งผลต่อการอุ้มหรือการยกของตามปกติ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการขอข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม ว่าที่ผ่านมาได้มีการรักษามาอย่างไรบ้าง เพื่อระวังความเสี่ยงของโรค และวางแผนการรักษา





ภาพจาก TNN Online

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง