รีเซต

จาก 1 ล้าน สู่ Zero Dropout: ความหวังใหม่ของเด็กและเยาวชนไทย

จาก 1 ล้าน สู่ Zero Dropout: ความหวังใหม่ของเด็กและเยาวชนไทย
TNN ช่อง16
30 พฤษภาคม 2567 ( 17:12 )
53

ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของไทยทวีความรุนแรงสูงขึ้นหลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ครอบครัวจำนวนมากมีโอกาสติดอยู่ในกับดักความยากจน เนื่องจากลูกหลานเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จการศึกษาสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ ประกอบกับไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ทำให้อาจติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางไปอีกนาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับหน่วยงานอื่น จึงเร่งขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout หากสำเร็จจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนราวร้อยละ 1.7 ของ GDP



สถานการณ์ในปัจจุบัน

จากการเชื่อมโยงข้อมูลของกสศ. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าในปี 2566 มีเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาประมาณ 1.02 ล้านคน ได้แก่ เด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียน เด็กที่เข้าเรียนล่าช้า เด็กที่ออกกลางคัน และเด็กตกหล่น เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายจังหวัดพบว่ามีตัวเลขหลักเดียวเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรวัยเรียนในพื้นที่ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1-3% ยกเว้นกรุงเทพฯ และจังหวัดตากที่สูงถึง 6-13% เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น


แนวทางการแก้ไข

กสศ. เสนอให้มุ่งแก้ปัญหาในระดับภาพรวมประเทศ บริหารจัดการโดยหน่วยงานระดับจังหวัด และลงมือทำในระดับชุมชน ผ่านการสร้างกลไกการติดตามและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยทีมสหวิชาชีพในพื้นที่จะออกเคาะประตูบ้านนักเรียนเพื่อทราบปัญหาและออกแบบแนวทางแก้ไขที่ตรงจุด เช่น การสร้างทางเลือกในการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเหมาะสมกับวิถีชีวิต การจัดหลักสูตรฟื้นฟูเตรียมความพร้อมก่อนกลับสู่การศึกษา เป็นต้น ขณะที่ภาคเอกชนก็สามารถเข้ามาร่วมจัดการศึกษาและเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับสายอาชีพ


มาตรการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

เมื่อ 28 พ.ค. 2567 ครม.ได้รับทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการต่างๆ ตามที่กสศ.เสนอแล้ว ประกอบด้วย 

1) มาตรการค้นหาเด็กนอกระบบผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูล 

2) มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็ก 

3) มาตรการจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่นตามศักยภาพของเด็กแต่ละราย

4) มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเอกชนให้ร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ 

โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการติดตาม ซึ่งจะทำให้ทุกโรงเรียน ทุกต้นเทอม มีระบบติดตามนักเรียนและเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบ


บทสรุป

การช่วยเหลือเด็กนอกระบบถือเป็นความท้าทายสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการนำเด็กกลับสู่ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ตอบโจทย์ชีวิต ทั้งนี้ การไม่มีเด็กนอกระบบไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะกลับเข้าโรงเรียนทันที แต่หมายถึงเด็กจะต้องอยู่ในเรดาร์ ได้รับความช่วยเหลือ และมีทางเลือกเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชีวิตของตน ผ่านการเตรียมความพร้อมที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ระบบการศึกษามีความยืดหยุ่นมากขึ้น หากบรรลุเป้าหมายนี้ได้ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง