นักวิจัยชาวจีนเตือน โควิด-19 แพร่ผ่านละอองในอากาศระหว่างอาคารที่ตั้งอยู่ใกล้กัน
China: นักวิจัยชาวจีนเตือน มีความเสี่ยงที่โควิด-19 จะแพร่ระบาดผ่านละอองในอากาศ ระหว่างอาคารสองหลังที่ตั้งอยู่ใกล้กัน พร้อมระบุว่า อาคารผู้ป่วยในโรงพยาบาล ควรมีระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อป้องกันเชื้อโควิดแพร่กระจาย
คณะนักวิจัยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (CDC) และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ท้องถิ่นในมณฑลกว่างตง ได้ทำการตรวจสอบร่วมกัน อ้างอิงจากเคสการติดเชื้อในท้องถิ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม พบผู้ป่วยยืนยันรายแรก และผู้สัมผัสใกล้ชิด มีประวัติอยู่ในอาคารสองหลังของโรงพยาบาลกว่างโจว ในช่วงเวลาเดียวกัน
หลายฝ่ายทราบดีว่า เชื้อโควิด-19 สามารถแพร่ผ่านละอองในอากาศ แต่การแพร่กระจายมักเกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด อย่างไรก็ตาม การจัดลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสฯ ของผู้ป่วยทั้งสองราย พบว่า มีต้นกำเนิดเดียวกัน โดยคณะผู้ตรวจสอบทางระบาดวิทยาคาดว่า อาจเป็นการแพร่ผ่านละอองในอากาศ
ทั้งนี้ กรณีของโรงพยาบาลกว่างโจว อาคารทั้งสองหลังมีระยะห่าง 50 เซนติเมตร และใช้เพดานภายนอกร่วมกัน จึงเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างปิด
คณะนักวิจัยจึงทำการจำลองภาคสนาม เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีข้างต้น โดยใช้ไมโครสเฟียร์เรืองแสง เพื่อแสดงการกระจายตัวของอนุภาคละอองในอากาศ พบว่า มีลักษณะอากาศพลศาสตร์คล้ายคลึงกับเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 จุด เชื่อมโยงกับผู้ป่วยสองรายข้างต้น
รายงานดังกล่าว ระบุว่า มีเส้นทางส่งผ่านละอองในอากาศปรากฏชัดเจน จากตำแหน่งของผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้ป่วยยืนยันรายแรก คาดว่า มีปัจจัยจากกระแสลมจากการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ รวมถึงการเปิด-ปิดประตูและหน้าต่าง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ตราบใดที่เครื่องปรับอากาศเปิดใช้งานอยู่ อนุภาคชนิดนี้จะไหลเวียนอย่างช้า ๆ ระหว่างอาคารสองหลัง แม้ว่าประตูและหน้าต่างจะปิดอยู่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี การศึกษาพบว่า รัฐบาลควรหันมาใส่ใจความเสี่ยงการแพร่กระจายของละอองในอากาศ ระหว่างอาคารที่อยู่ใกล้ชิดกัน รวมถึงหอแยกโรคและพื้นที่ผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาล ควรมีระยะห่างที่พอเหมาะ อีกทั้ง โรงพยาบาลควรตรวจสอบรูปแบบการไหลเวียนของอากาศในอาคารด้วย