รีเซต

SACICT เชิญผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยและนักออกแบบแฟชั่น ร่วมเสวนา Roadshow Online

SACICT เชิญผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยและนักออกแบบแฟชั่น ร่วมเสวนา Roadshow Online
TNN ช่อง16
12 มิถุนายน 2564 ( 11:22 )
85

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้จัดกิจกรรม Roadshow Online การประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือ SACICT Award 2021 ภายใต้แนวความคิด “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” ผ่านระบบ Zoom และ Facebook Live ตามมาตรการป้องกันการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ณ ห้องประชุมยกไหม ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เผยแพร่องค์ความรู้ด้านผ้าไทยจากผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบแฟชั่นชั้นนำระดับประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นิสิต นักศึกษา ด้านการออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย โดยมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมถึง 16 สถาบัน

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ “กล่าวว่า ‘ผ้าไทย’ เป็นงานศิลปหัตถกรรมแขนงหนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย เราจึงริเริ่มโครงการจัดการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือ SACICT Award 2021 ภายใต้แนวความคิด “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” ขึ้นมา เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกายผ้าไทยจากความคิดสร้างสรรค์ของคนในแต่ละ Generations ให้เข้ากับยุคสมัย และเป็นหนึ่งในการผลักดันให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จัก จนเกิดเป็นค่านิยมให้คนทั่วไปหันมาสวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น เพิ่มคุณค่า และมูลค่าให้แก่ผ้าไทยมากยิ่งขึ้น”

ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย กล่าวว่า “อยากเห็นผลงานที่ใช้มรดก ภูมิปัญญา และนำมาต่อยอดด้วยองค์ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา โดยเฉพาะเทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะทำด้วยกรรมวิธีใด ๆ แต่อยากให้ผลงานแตกต่างไปจากเดิมให้เป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ให้สะท้อนอัตลักษณ์ความงามของผ้าไทย”

รศ.(พิเศษ) ระพี ลีละสิริ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ระพี ลีลา และหนึ่งในกรรมการตัดสินโครงการ SACICT Award 2021 กล่าวว่า “หลักเกณฑ์ในการตัดสินจะเน้นความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจในการออกแบบผลงาน ที่สามารถดึงดูดความสนใจและมีความพิเศษ การเลือกใช้วัสดุเน้นผ้าไทยที่ทอด้วยมือ ที่มีความเหมาะสมกับผลงาน สามารถประยุกต์ร่วมกับผ้าชนิดอื่นได้ แต่ควรที่จะนำผ้าไทยมาใช้ในการผลิตผลงานอย่างน้อย 70% ของชิ้นงาน และมี เทคนิคในการออกแบบชิ้นงาน ให้สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน”

รศ.ดร.สมพร ธุรี คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า “ผ้าไทย มีอัตลักษณ์ ความโดดเด่น และความสวยงามอยู่แล้ว ถ้าจะผสมผสานผ้าไทยกับแฟชั่นในปัจจุบัน ผู้ที่ออกแบบต้องมีแนวคิด วิเคราะห์ และรู้กลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศช่วยผลักดันให้กลุ่มนิสิต นักศึกษาได้มีโอกาสก้าวไปสู่วงการแฟชั่นชั้นนำระดับประเทศและระดับสากล เวทีนี้ถือว่าเป็นเวทีทดลองให้กับนักศึกษาและเป็นก้าวที่สำคัญของนักศึกษาอีกก้าวหนึ่ง”

นายปภณภรพัฒน์ มนัสพรดิศรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอและการออกแบบแฟชั่น อาจารย์พิเศษสาขาวิชาออกแบบแฟชั่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า “เทรนด์ของโลกมันเปลี่ยนไป ปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ และมีเดียต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ผลงานการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ออกมาจะเป็นในลักษณะเชิงความคิดสร้างสรรค์ (Creative) พร้อมไปสังสรรค์ (Party) และเสื้อผ้าต้องสามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน (Ready to Wear) ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จัดการประกวดนี้ขึ้นมา เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการศึกษาผ้าไทยในเชิงลึก และมีโอกาสถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ อัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค”

คุณทิพยพงษ์ ภูษณะพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Tipa Atelier กล่าวว่า “นักออกแบบ จะต้องเป็นนักเพ้อฝันตัวยง กล้าคิด กล้าแสดงออก และที่สำคัญกล้าที่จะคิดนอกกรอบ การประกวดในแต่ละเวทีไม่จำเป็นต้องหวังถึงผลชนะ แต่ให้นึกถึงตอนก้าวลงจากเวทีการประกวดว่าเราจะได้ประสบการณ์อะไรจากเวทีนี้บ้าง ส่วนไอเดียการนำผ้าไทยมาประยุกต์ใช้กับเสื้อผ้าแฟชั่นในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ พื้นฐานเอกลักษณ์ของผ้าไทย หรือ DNA ของผ้าว่ามีความโดดเด่นในด้านใดบ้าง การเลือกใช้วัตถุดิบที่นำมาออกแบบต้องไม่ต่อต้านกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันเป็นเทรนด์ของการรักษ์โลกมากขึ้น และ Pattern เป็นสิ่งที่จำเป็น Pattern ที่เรียบง่าย แต่ดูทันสมัย จะสามารถสวมใส่ได้ทุก Generation”

นางสาวแพรี่พาย อมตา จิตตะเสนีย์ Influencer ที่นำผ้าไทยมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน กล่าวว่า “โดยส่วนตัวแล้วการแต่งตัวของแพร จะเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะกับบุคลิก และบ่งบอกความเป็นตัวเรามากที่สุด ซึ่งส่วนตัวชื่นชอบเสน่ห์ของผ้าไทย ก็จะนำผ้าไทยมาแมทช์กับไลฟ์สไตล์การแต่งตัวในแบบฉบับที่ตนเองชอบ จึงอยากเชิญชวนคนที่มีไอเดียในเรื่องของการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า การออกแบบผ้าไทย เข้าร่วมประกวดโครงการนี้ โดยใช้โอกาสจากเวทีนี้ เพิ่มคุณค่าและยกระดับผ้าไทย เมื่อผ้าไทยเป็นที่นิยมมากขึ้น จะเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้นอีกด้วย”

ในช่วงท้าย ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม Roadshow Online ในครั้งนี้ ได้ส่งคำถามเกี่ยวกับการประกวด SACICT Award 2021 “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” ซึ่งมีผู้สนใจแลกเปลี่ยนทัศนะ และสอบถามเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ การประกวดออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกายผ้าไทย SACICT Award 2021 ภายใต้แนวคิด “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” เป็นการประกวดที่เฟ้นหาผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และทักษะฝีมือด้านการออกแบบ ตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายผ้าไทยจากทุกภูมิภาค ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 700,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ โดยผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับการอบรมองค์ความรู้เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสในการก้าวสู่วงการแฟชั่นชั้นนำ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียด และร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ทาง www.sacictaward2021.com ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิถุนายน 2564 หรือสอบถามข้อมูล โทร 084-4247464, 063-0944388 นอกจากนี้ผู้ที่รัก ชื่นชอบผ้าไทย และงานศิลปหัตถกรรมไทยยังสามารถติดตามข่าวสารองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย และผลงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ ได้ที่ www.sacict.or.th , Facebook , Instagram และ Youtube ของ SACICT


ข่าวที่เกี่ยวข้อง