รีเซต

หมอมนูญ เปิดผลศึกษา "ยาฟาวิพิราเวียร์" ช่วยผู้ติดโควิดอย่างไร?

หมอมนูญ เปิดผลศึกษา "ยาฟาวิพิราเวียร์" ช่วยผู้ติดโควิดอย่างไร?
TNN ช่อง16
20 กรกฎาคม 2564 ( 10:46 )
78

วันนี้( 20 ก.ค.64) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า

"ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) คิดค้นในประเทศญี่ปุ่นปี ค.ศ. 2002  เริ่มใช้ในประเทศญี่ปุ่นสำหรับรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ปี ค.ศ. 2014  

นำมารักษาโรคโควิด-19 ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย 

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิภาพช่วยให้อาการดีขึ้น ลดความรุนแรงของโรค ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย ลดการใช้ออกซิเจนได้ แต่ช่วยได้น้อยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วยลดการเสียชีวิตในคนไข้โรคโควิด-19

คำแนะนำ ถ้าจะใช้ฟาวิพิราเวียร์ต้องรีบให้ตั้งแต่เริ่มมีอาการในคนป่วยที่มีความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง ให้ช้าไปไม่ได้ผล

องค์การอาหารและยา (FDA) ของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19 เพราะมีความเห็นว่ายานี้ยังมีประสิทธิภาพดีไม่เพียงพอ

ผลข้างเคียงของฟาวิพิราเวียร์พบได้แต่ไม่บ่อย มีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ทำให้ค่าเอนไซม์ตับ และกรดยูริกในเลือดสูง และมีรายงานทำให้หัวใจเต้นช้า

ผู้ป่วยหญิงอายุ 53 ปี ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากสามี เข้านอนรักษาในรพ.ด้วยอาการเหนื่อย ไข้ ไม่ไอ เอกซเรย์ปอดมีปอดอักเสบเล็กน้อยสองข้าง เจาะเลือดค่าเอนไซม์ตับวันแรกปกติ 

แพทย์เริ่มให้การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่วันแรกที่เข้านอนในรพ.ให้ทั้งหมด 10 วัน ผู้ป่วยมีถ่ายเหลวบ้างแต่ไม่คลื่นไส้ ไม่อาเจียน

วันที่ 5 หลังเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ ชีพจรช้าลง 40 กว่าครั้ง/นาที ช้าที่สุด 38 ครั้ง/นาทีในวันที่ 7 ที่ได้รับยา หลังหยุดยาฟาวิพิราเวียร์ 3 วัน ชีพจรกลับมาเป็นปกติ 

ตรวจเลือดค่าเอนไซม์ตับวันที่หยุดยาฟาวิพิราเวียร์ ค่าเอนไซม์ตับขึ้นสูงผิดปกติ SGOT 197 SGPT 626 Alkaline phosphatase 359 แต่ค่า bilirubin ปกติ 

ตรวจไม่พบไวรัสตับอักเสบ A,B,C  อัลตราซาวด์ตับปกติ อาการทางปอดดีขึ้น ต้องใช้เวลา 1 เดือนครึ่งกว่าค่าเอนไซม์ตับจะค่อยๆกลับมาเป็นปกติ

สรุป ผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้น แต่มีผลข้างเคียงจากยาฟาวิพิราเวียร์ ทำให้หัวใจเต้นช้าและมีตับอักเสบ หายได้เองหลังหยุดยา"

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง