กักตัวอยู่บ้าน-โควิดระบาด ดันข้าวพุ่ง ราคาเกินประกันรายได้ยกแผงกว่าตันละพัน
กักตัวอยู่บ้าน-โควิดระบาด ดันข้าวพุ่ง ราคาเกินประกันรายได้ยกแผงกว่าตันละพัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยมีมติไม่จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 23 ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่แจ้งเก็บเกี่ยวช่วง 5-11 เมษายน เพราะราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นเกินไปกว่าราคาประกันรายได้ทุกชนิด ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายส่วนต่างในงวดนี้ โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่สิ้นสุดฤดูกาลไปแล้ว แต่ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาอ้างอิง 14,935.33 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10,181.71 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,392.65 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 17,097.69 บาท/ตัน ซึ่งทุกชนิดราคาสูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกันรายได้
“ถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มคิกออฟโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตั้งแต่ 15 ต.ค.2562 โดยข้าวที่มีการจ่ายชดเชยมาโดยตลอด คือ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จ่ายมาจนถึงงวดที่ 22 แต่พองวดที่ 23 ไม่มีการจ่ายแล้ว เพราะราคาข้าวปรับตัวขึ้นเร็วมาก โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งที่ราคาข้าวเกินตันละ 1 หมื่นบาท ” แหล่งข่าว
แหล่างข่าว ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น มาจากความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ทั้งจากการบริโภคในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาจากความต้องการข้าวเพื่อส่งออก หลังจากที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญ เช่น เวียดนาม ได้ห้ามส่งออกข้าว อินเดียระงับคำสั่งซื้อใหม่ ทำให้คำสั่งซื้อข้าววิ่งมายังไทยมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้ผู้ส่งออกเร่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีการจับตาราคาข้าวสารบรรจุถุงเพื่อการบริโภคในประเทศให้เพียงพอและราคาเหมาะสมแต่ทั่วโลกต้องการนำเข้าข้าวไทยจากนี้
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกันรายได้ข้าวเปลือกจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท ครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน แต่ถ้าเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด
และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของข้าวชนิดที่กำหนดไว้สูงสุด โดยผลการจ่ายเงินส่วนต่างที่ผ่านมา รวม 23 งวด ได้จ่ายเงินชดเชยรายได้ไปแล้วประมาณ 19,368 ล้านบาท คิดเป็น 92.4% ของวงเงินประกันรายได้ทั้งหมด 20,940.84 ล้านบาท