รีเซต

ความเชื่อมั่นอุตฯ ขยับขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนติดหลังปลดล็อกเฟส 6 เอกชนวอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

ความเชื่อมั่นอุตฯ ขยับขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนติดหลังปลดล็อกเฟส 6 เอกชนวอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม
ข่าวสด
17 กันยายน 2563 ( 15:34 )
73
ความเชื่อมั่นอุตฯ ขยับขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนติดหลังปลดล็อกเฟส 6 เอกชนวอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

 

ความเชื่อมั่นอุตฯ ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 หลังปลดล็อกเฟส 6 เอกชนวอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ยืดชำระเงินกู้เอสเอ็มอีไปอีก 2 ปี

ความเชื่อมั่นอุตฯดี4เดือนติด - นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.5 ในเดือนก.ค. 2563 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน ร่วมมือกัน ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถดำเนินการตามปกติ

 

นอกจากนี้ ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลดีต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล อาหาร และสินค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 94.5 เพิ่มขึ้นจาก 93.0 ในเดือนก.ค. 2563 จากผู้ประกอบการคาดว่าภาคการผลิตจะมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น

 

ทั้งนี้ แม้ดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและมีกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหาสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งบางส่วนได้รับสินเชื่อไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้หมุนเวียนในกิจการ

 

“สิ่งสำคัญคือยังอยู่ภายใต้ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563”

 

ดังนั้น รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการให้มากขึ้น ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เช่น ยืดการชำระเงินกู้ไปอีก 2 ปี (ปี 2564-2565) ขอให้ผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการอบรมหรือกิจกรรมอบรมสัมมนาภายในของบริษัทเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,215 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 69.2%, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 54%, อัตราแลกเปลี่ยนในมุมมองผู้ส่งออกอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 45.1% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 25.3% ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ ราคาน้ำมัน 37.2%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง