รีเซต

โมเดิร์นเทรดสาหัส! ไตรมาส 2 ทรุดหนัก - เอกชนวอนรัฐขอจ้างพนักงานเป็นรายชั่วโมง

โมเดิร์นเทรดสาหัส! ไตรมาส 2 ทรุดหนัก - เอกชนวอนรัฐขอจ้างพนักงานเป็นรายชั่วโมง
ข่าวสด
30 กรกฎาคม 2563 ( 16:35 )
123

 

ห้างโมเดิร์นเทรดสาหัส ไตรมาส 2 ทรุดหนัก หวังดีขึ้นไตรมาส 3 เอกชนร้องรัฐปรับจ้างจากรายวันเป็นรายชั่วโมง แก้เลิกจ้างฝ่าวิกฤตโควิด-19

โมเดิร์นเทรดสาหัส - นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการประเภทโมเดิร์นเทรด เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า 102 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20 มิ.ย.-20 ก.ค. 2563 พบว่าผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ โมเดิร์นเทรด ประจำไตรมาส 2 ปี 2563 ดัชนีมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากในช่วงไตรมาส 1 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.1 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าดัชนีได้ปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดแล้ว โดยคาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป แต่ยังคงให้ความระมัดระวังในเรื่องของการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจของประเทศ กำลังซื้อของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว

โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงนั้น นอกจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีปัจจัยมาจากนักท่องเที่ยวที่ลดลง พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งการออกจากบ้านน้อยลงและซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น การส่งออกที่ลดลง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นซึ่งมีผลโดยตรงกับกำลังซื้อทำให้ยอดขายสินค้าของ โมเดริ์นเทรดลดลง

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ เช่น การเพิ่มสภาพคล่องการเงินโดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ลูกค้ารายย่อย ผ่านกลุ่มธุรกิจค้าปลีก การลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เช่น อัดแคมเปญกระตุ้นยอดขาย ช้อปช่วยชาติ นำไปลดภาษีเงินได้เพดานไม่เกิน 50,000 บาท

รวมทั้งมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน เช่น ฝึกอาชีพ ให้กู้เงินเพื่อลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6-12 เดือน ออกมาตรการทางภาษี เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มหากมีการลงทุน เร่งคืนเงินประกันสังคมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และขยายการสนับสนุนการจ่ายเงินให้ผู้ประกันสังคมจนถึงสิ้นปี 2563

นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าจากการสอบถามผู้ประกอบการยืนยันว่าแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของควิด-19 แต่ยังไม่มีการเลิกจ้างพนักงานในกลุ่มของผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดในขณะนี้ แต่ในระยะยาวหากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่ดีขึ้น ยอดขายลดต่ำลงไปเรื่อยก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ประกอบการได้เสนอไปยังภาครัฐคือ กระทรวงแรงงานให้แก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อเปิดช่องให้นายจ้างสามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ จากเดิมที่มีการคิดแบบรายวันเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เพราะบางกิจการไม่ต้องการพนักงานทำงานแบบเต็มเวลา หรือ 8 ชั่วโมง ซึ่งบางกิจการต้องปรับเวลาการทำงานของพนักงานลงจาก 8 ชั่วโมงเหลือ 3-4 ชั่วโมง จำเป็นต้องเกลี่ยคนให้เหมาะสม ซึ่งก็ดีกว่าการเลิกจ้างพนักงาน และจากการสอบถามพบว่ามีความต้องการพนักงานในส่วนนี้มากถึง 5,000 อัตรา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายอาจดำเนินการได้ล่าช้า แต่หากภาครัฐเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนก็สามารถใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้สามารถดำเนินการได้เลย

“จากปัจจุบันการจ้างงานของประเทศไทยเป็นการจ้างงานรายวัน เพื่อที่จะช่วยกันประคับประคองธุรกิจ สอดคล้องกับความต้องการของทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องการทำงานรายชั่วโมง โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนของผู้ประกอบการประเภทห้างค้าปลีก หรือ ภาคบริการต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนให้กับธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกจ้างมีงานทำ ลดความเสี่ยงของการปลดคนงานลงหากสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้จะถือเป็นการเปิดโอกาสให้ตลาดแรงงานของไทยมีความเสี่ยงตกงานน้อยลง ทางเอกชนจึงต้องการให้รัฐบาลมีการผลักดันและขับเคลื่อนกฎหมายดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงสามารถประคองตัวอยู่ได้ และเดินหน้าได้ทันทีเมื่อมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม” นายสุรงค์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง